ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2566

13:30 น.
25 พฤษภาคม 2566
ห้องประชุม Cotton Room ชั้น 7 โรงแรม Avani Sukhumvit
วันที่ : 25 พฤษภาคม 2566
เวลา : 13:30 น.
ห้องประชุม Cotton Room ชั้น 7 โรงแรม Avani Sukhumvit
สอวช.

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • เอกสารประกอบการประชุมครั้งที่ 2/2566

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 การเชิญบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ครั้งที่ 2/2566 ในฐานะกรรมการ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
2.1 รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

3.2 การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

3.3 การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องสืบเนื่อง
4.1 สรุปผลความก้าวหน้าการดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) และแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบ Sandbox ให้เกิดประสิทธิภาพและผลกระทบสูง
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2566

ความเป็นมา
ตามคำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่ 3/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กำหนดว่าในกรณีที่จำเป็น คณะกรรมการอาจเชิญบุคคลในบัญชีรายชื่อที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น และได้กำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องในฐานะกรรมการ จำนวน 24 ท่าน

การดำเนินงาน
คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 เห็นชอบให้ประธานกรรมการพิจารณารายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ในฐานะกรรมการเป็นรายครั้ง

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ในคราวประชุมครั้งที่ 2/๒๕๖6 จึงเห็นควรให้เชิญบุคคลซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระการประชุม จำนวน 6 ท่าน ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเข้าร่วมประชุม ดังนี้
1. ศาสตราจารย์กิตติชัย วัฒนานิกร
2. ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล
3. รองศาสตราจารย์เจษฎา วรรณสินธุ์
4. รองศาสตราจารย์ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย
5. รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ แพสุวรรณ
6. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 – 14.00 น. ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงานการประชุม และแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีกรรมการขอแก้ไขเพิ่มเติม

ความเป็นมา

ตามที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้นำส่งข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) มาที่กระทรวง อว. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการดังกล่าว พร้อมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาฉบับสมบูรณ์

การดำเนินงาน

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) แล้วเสร็จ และผ่านการเห็นชอบจาก สภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 25 (3/ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566 จากนั้นได้นำส่งให้คณะทำงานฯ พิจารณากลั่นกรองในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวแล้ว พบว่ามีความครบถ้วนตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักสูตร: หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและ ยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง)

สถาบันอุดมศึกษา และคณะผู้รับผิดชอบ: สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ประเภทกำลังคน: บัณฑิตด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า

จุดเด่นของหลักสูตร:
1) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีความร่วมมือกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้นตลอดกระบวนการ (Co-creation) มีการสนับสนุนจากภาคผู้ใช้บัณฑิตทั้งในรูปแบบ In-kind และ In-cash โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานในวิชาชีพ
2) จัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Module เรียนควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดระยะเวลาการศึกษา โดยผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนระหว่างการศึกษา
3) มุ่งเน้นการรับนักศึกษากลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาซึ่งได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และการยกระดับทักษะให้กับแรงงานในภาคประกอบการซึ่งอาจไม่มีวุฒิ ปวส. แต่มีประสบการณ์ทำงานด้านที่เกี่ยวข้อง 2 ปี เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
4) จัดการเรียนรู้แบบ Project-based โดยใช้โจทย์จริงและเป็นการแก้ไขปัญหาจริงในสถานประกอบการ
5) เครือข่าย 6 สถาบันการศึกษาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการ

ข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการขอยกเว้น: เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 โดยขอยกเว้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ข้อ 9 โครงสร้างหลักสูตร ขอยกเว้นการจัดการเรียนแบบหมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี โดยจะจัดการเรียนการสอนแบบโมดูลที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งเป็น 6 กลุ่มโมดูล จำนวนโมดูลทั้งหมด 37 โมดูล (84 หน่วยกิต)

ระยะเวลาดำเนินการ:
ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 4 ปี (มิถุนายน 2566 – เมษายน 2569) ผลิตบัณฑิต 3 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี/รุ่น
ระยะเวลาของการประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษา ไม่เกิน 1 ปี หลังสำเร็จการศึกษา

จำนวนกำลังคนที่จะผลิต: 300 คน (50 – 150 คน/รุ่น จำนวน 3 รุ่น)

ความเป็นมา

ตามที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้นำส่งข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม มาที่กระทรวง อว. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการดังกล่าว พร้อมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาฉบับสมบูรณ์

การดำเนินงาน

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมแล้วเสร็จ และผ่านการเห็นชอบจากสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 25 (3/ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566 จากนั้นได้นำส่งให้คณะทำงานฯ พิจารณากลั่นกรองในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวแล้ว พบว่ามีความครบถ้วนตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักสูตร: หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม

สถาบันอุดมศึกษา และคณะผู้รับผิดชอบ: สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คณะบริหารธุรกิจ

ประเภทกำลังคน: บัณฑิตผู้ประกอบการตามแนวทาง BCG

ข้อ 3 คำจำกัดความของ “อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร” โดยขอปรับเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสามารถรับผิดชอบหลักสูตรได้เกินกว่า 1 หลักสูตรในเวลาเดียวกัน
ข้อ 3 คำจำกัดความของ “องค์กรภายนอก” โดยขอขยายคำจำกัดความของ “องค์กรภายนอก” ให้ครอบคลุมถึงสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
ข้อ 10 คุณวุฒิ คุณสมบัติ และจำนวนอาจารย์ ในข้อ 10.2.1 อาจารย์ประจำหลักสูตร โดยขอขอยกเว้นเกณฑ์ในส่วนผลงานทางวิชาการ ให้อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ต้องมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่อย่างน้อย 1 เรื่อง ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง เพื่อเปิดโอกาสให้หลักสูตรรับบุคลากรที่มีความสามารถทางปฏิบัติการเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มากขึ้น และกรณีที่มีการตกลงร่วมผลิตกับองค์กรภายนอก ขอปรับเกณฑ์ในส่วนประสบการณ์การทำงานในองค์กรแห่งนั้นหรือการทำงานประเภทเดียวกันอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจจริงของตนเองหรือมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาในหลักสูตร แม้จะไม่ถึง 6 ปี มีโอกาสเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มากขึ้น

ระยะเวลาดำเนินการ:
ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี 2 เดือน (พฤษภาคม 2566 – มิถุนายน 2571) ผลิตบัณฑิต 3 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี/รุ่น
ระยะเวลาของการประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษา ไม่เกิน 1 ปี หลังสำเร็จการศึกษา

จำนวนกำลังคนที่จะผลิต: 90 คน (30 คน/รุ่น จำนวน 3 รุ่น)

ความเป็นมา

ตามที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำส่งข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการมาที่กระทรวง อว. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการดังกล่าว พร้อมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาฉบับสมบูรณ์

การดำเนินงาน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์แล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 จากนั้นได้นำส่งให้คณะทำงานฯ พิจารณากลั่นกรอง โดยในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 คณะทำงานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่ามีความครบถ้วนตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักสูตร: หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์

ผู้รับผิดชอบ: สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาการจัดการ และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ประเภทกำลังคน: ผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเวลเนส

จุดเด่นของหลักสูตร:
1) เป็นหลักสูตรที่มีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัย ในรูปแบบ Active cooperation
2) เรียนแบบบูรณาการศาสตร์ ประกอบด้วยสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ แพทย์บูรณาการ เวชศาสตร์ชะลอวัย และการจัดการธุรกิจ และจัดการเรียนการสอนแบบ Module
3) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพที่ประเทศจีน
4) รูปแบบของการค้นคว้าอิสระเป็นการจัดทำและ Pitching แผนธุรกิจเวลเนสที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ และประเมินผลโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงการ
5) มีระบบให้คำแนะนำผู้เรียนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Co-operative coaching และจบการศึกษาภายในระยะเวลา 10 เดือน

ข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการขอยกเว้น: เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2565 โดยขอยกเว้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ข้อ 3 คำจำกัดความของ “อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร” โดยขอให้หลักสูตรสามารถใช้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่ซ้ำกับหลักสูตรเดิมที่รับผิดชอบหลักสูตรอยู่แล้วได้อีกหนึ่งหลักสูตร
ข้อ 13.2.2 เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แผน 2 ซึ่งระบุให้มีระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4
โดยขอประเมินผลในแต่ละโมดูลในรูปแบบ S/U ที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันอย่างเข้มข้น โดยคณะกรรมการและหน่วยงานร่วมที่มีประสบการณ์สูงแทน และการค้นคว้าอิสระในรูปแบบการเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งวัดและประเมินผลจากการ Pitching แผนธุรกิจเวลเนสที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อคณะกรรมการและหน่วยงานร่วมของหลักสูตร

ระยะเวลาดำเนินการ:
ระยะเวลา 3 ปี (สิงหาคม 2566 – กรกฎาคม 2569) ผลิตบัณฑิต 3 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน/รุ่น
การประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษา 3-6 เดือน หลังสำเร็จการศึกษา

จำนวนกำลังคนที่จะผลิต: 90 คน (30 คน/รุ่น จำนวน 3 รุ่น)

ความเป็นมา

ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดรับข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามประกาศของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่ามีสถาบันอุดมศึกษายื่นข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการมายังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวนทั้งสิ้น 168 ข้อเสนอ

คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ได้เริ่มพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการ ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 21 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา โดยความก้าวหน้าการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา มีรายละเอียด ดังนี้

ข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการที่คณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบ และอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จำนวน 9 ข้อเสนอ

ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษา และคณะทำงานฯ เห็นควรให้เสนอต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อขออนุมัติจัดการศึกษา จำนวน 3 ข้อเสนอ ได้แก่

  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า (ต่อเนื่อง) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษาอนุมัติให้จัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6 ข้อเสนอ โดยแต่ละข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ มีความก้าวหน้าการดำเนินการภายหลังได้รับการอนุมัติแล้วดังนี้

นอกจากนี้ สำหรับข้อเสนอจำนวน 150 ข้อเสนอฯ ที่ไม่เข้าข่ายการจัดการศึกษาแบบ Higher education sandbox พบว่า
ข้อเสนอฯ จำนวนหนึ่งเป็นข้อเสนอฯ ที่ดีเพียงแต่ไม่ติดเกณฑ์ข้อจำกัดใด สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ ปี พ.ศ. 2565 ที่ได้ปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นแล้ว โดยมีตัวอย่างของนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. 2565 ดังนี้

รูปแบบที่ 1 การผลิตกำลังคนในสาขาที่มีความต้องการเร่งด่วน และจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ

ตัวอย่างหลักสูตร: หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รูปแบบการจัดการศึกษา:

  • การจัดการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยนำนักศึกษาไปศึกษาเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน
  • นักศึกษาได้รับ 2 ปริญญา และ 1 ใบรับรองการฝึกอบรม ภายในระยะเวลา 4.5 ปี โดยศึกษาในสาขาวิชาแรกที่เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะเวลา 3.5 ปี ได้รับปริญญาใบที่ 1 จากนั้นไปศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง ระยะเวลา 1 ปีที่ Southwest Jiaotong University (ศึกษาทั้งในรูปแบบการเรียนรายวิชาบรรยายและฝึกปฏิบัติในรายวิชาสหกิจศึกษา) เพื่อได้รับปริญญาใบที่ 2 และ 1 ใบรับรองการฝึกอบรม

รูปแบบที่ 2 การผลิตกำลังคนโดยการมีส่วนร่วมจากภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้น (Co-creation)

ตัวอย่างหลักสูตร: หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมกระบวนการผลิต (ต่อเนื่อง) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

รูปแบบการจัดการศึกษา:

  • การจัดการศึกษารูปแบบโรงเรียนในโรงงาน (ทำงานควบคู่เรียนในสถานประกอบการ) ระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี
  • มหาวิทยาลัยและสถานประกอบการร่วมกันพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอบ และการวัดและประเมินผล (Co-creation)
  • เรียนแบบ Block course ตามโมดูล
  • สามารถเทียบโอนประสบการณ์ทำงาน ฝึกอบรม มาตรฐานวิชาชีพ แฟ้มสะสมงาน
  • การทำโครงงาน (Project) ที่มาจากโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ

รูปแบบที่ 3 การผลิตผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงโดยการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ

ตัวอย่างหลักสูตร: หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะและอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รูปแบบการจัดการศึกษา:

  • การจัดการศึกษาแบบบูรณาการศาสตร์ (คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี) เพื่อสร้างผู้ประกอบการด้านการเกษตรยุคใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ
  • เน้นการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง (On farm learning) ร่วมกับผู้ประกอบการจริง
  • ชั้นปีที่ 1 – 2 ผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับการผลิตด้านการเกษตร ชั้นปีที่ 3 เลือกเรียน Module เฉพาะสาขา (Smart automation/Smart agriculture and food/Smart agri-business management) และในชั้นปีที่ 4 ผู้เรียนจะเข้าสู่ Startup incubation และ Work integrated learning (WIL) ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนร่วมกับผู้ประกอบการ
  • มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งแบบเรียน 2 ปี ได้รับอนุปริญญา และเรียน 4 ปี ได้รับปริญญาตรี รวมถึงการรับนักศึกษาจากสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าเรียนในชั้นปีที่ 3-4 เพื่อรับปริญญาใบที่ 2

ทั้งนี้ในทั้ง 3 รูปแบบพบเกณฑ์มาตรฐานที่เดิมเป็นข้อจำกัดและได้รับการปลดล็อคเรียบร้อยแล้วภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2565 ทำให้สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ ปี พ.ศ. 2565 ดังนี้

การดำเนินงาน

เพื่อให้ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ที่คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษาได้อนุมัติให้จัดการศึกษาแบบ Higher education sandbox เรียบร้อยแล้วทั้ง 6 ข้อเสนอ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลกระทบ (Impact) สูง ฝ่ายเลขานุการจึงได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบ Higher education sandbox ให้เกิดประสิทธิภาพและผลกระทบสูง โดยเสนอให้จัดตั้งหน่วยสนับสนุน (Accelerating unit) เพื่อช่วยในการขยายเครือข่ายการจัดการศึกษา ทั้งในด้านผู้ใช้บัณฑิต (UILs) เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการ (Diagnose demand/Career identification) และการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ โดยเสนอให้หน่วยสนับสนุน (Accelerating unit) นี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สป.อว. สอวช. และ บพค. เพื่อให้สามารถสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างครอบคลุม