การพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนเป็นการบริการวิชาการเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2565 มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้นำและสมาชิกในชุมชนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานในพื้นที่ จึงมีการจัดพัฒนาสักยภาพให้กับผู้นำและสมาชิกในชุมชนเป็นระยะ ๆ และได้ดำเนินการกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1. การปรับปรุงพื้นที่ดินเค็ม
โดยจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการให้ผู้นำและสมาชิกแต่ละครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาดินเค็ม และสามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ของตนได้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการจัดการแบบประหยัดและประณีต เช่น การใช้ใบอ้อยเป็นวัสดุคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำในดินและให้น้ำเป็นตัวช่วยในการลดการแทรกตัวของเกลือจากใต้ขึ้นมาบนผิวดิน ซึ่งจะส่งผลต่อระบบรากของพืช และได้นำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชไปเรียนรู้และปฏิบัติการแก้ปัญหาดินเค็มและฟื้นฟูสภาพดินให้เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และฝึกทักษะการทำงานร่วมกับชุมชนให้แก่นักศึกษา
2. การส่งเสริมการเพาะเห็ด
โดยจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการให้ผู้นำและสมาชิกแต่ละครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดวางก้อนเชื้อเห็ด การรดน้ำและการดูแลก้อนเห็ด และการเก็บเห็ด ใน“ซุ้มเห็ดแก้จน”ด้วยแนวคิด “มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้เสริม” ในพื้นที่บริเวณบ้านที่มีจำกัด และสมาชิกในครัวเรือนสามารถทำได้ง่าย ทั้งนี้ในกระบวนการออกแบบและสร้างซุ้มเห็ดแก้จน ได้มีนักศึกษาสาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ ซึ่งกำลังเรียนวิชาเขียนแบบเครื่องกล เป็นผู้ร่วมออกแบบโรงเรือน นักศึกษาที่กำลังเรียนวิชาเครื่องมือกลสำหรับครูอุตสาหกรรมศิลป์ ทำหน้าที่วัดและตัดเหล็ก และนักศึกษาที่กำลังเรียนวิชางานเชื่อมเบื้องต้นสำหรับครูอุตสาหกรรมศิลป์เป็นผู้ประกอบโรงเรือ
3. การผลิตผักปลอดภัย
โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการผลิตผักปลอดภัย เพื่อให้ครัวเรือนสามารถผลิตผักปลอดภัยไว้บริโภคและจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเริ่มจากกระบวนการปรับสภาพดิน การวางระบบน้ำและการให้น้ำแก่พืช การคัดเลือกชนิดพันธุ์พืช การปลูกและการดูแลรักษา และได้จัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำน้ำหมักชีวภาพและสารไล่แมลงศัตรูพืช และการจัดการโรคและแมลงในพืชแบบชีววิธี
4. การเพาะถั่วงอก
โดยให้ความรู้และทักษะการเพาะถั่วงอกปลอดสารพิษการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ การจัดการวัสดุอุปกรณ์ การเตรียมเมล็ดถั่วเขียว วิธีการเพาะ การปฏิบัติดูแลรักษา การเก็บผลผลิตถั่วงอก ซึ่งผู้สูงวัยสามารถทำเองได้
5. การเลี้ยงไก่ไข่
โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการ ให้สมาชิกครัวเรือนมีความรู้และทักษะการดูแลไก่ไข่เพื่อให้ไก่อารมณ์ดี การทำอาหารไก่ที่มาจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น และการดูแลสุขภาพไก่ เพื่อให้ไก่สามารถออกไข่ได้นานและครัวเรือนได้มีไข่ไก่ที่ปลอดภัยจากสารเคมีไว้บริโภค
ผลการดำเนินงาน
ผลกระทบที่เกิดประโยชน์สร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน อย่างเข็มแข็ง เช่น ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า เกิดผลกระทบในมิติด้านเศรษฐกิจ เป็นชุมชนเกษตรปลอดภัยที่สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน โดยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย นำไปสู่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน ผลลัพธ์ทำให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤติโควิด และเกิดครัวเรือนต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” จากการใช้พื้นที่ว่างข้างบ้านทำกิจกรรมการเกษตร