ด้วยจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นของทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun Geopark) แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงผลักดันให้สตูลเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางมรดกวัฒนธรรม ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้าง “Sustainable Development Economic Zone” โดย 4 เสือ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของแต่ละหน่วยงานในการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลสนับสนุน และตรงตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ของ อว. ดังนั้น ปส. จึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ปส. โดยกองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย (กพม.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) และคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง การดำเนินการตรวจวัดก๊าซเรดอนภายในถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ จังหวัดสตูล เนื่องจากผนัง เพดาน และพื้นถ้ำ อาจมีวัสดุกัมมันตรังสีในธรรมชาติปะปน
- การท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย
โดยมีการดำเนินการตรวจวัดก๊าซเรดอนภายในถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ จังหวัดสตูล เนื่องจากผนัง เพดาน และพื้นถ้ำ อาจมีวัสดุกัมมันตรังสีในธรรมชาติปะปน นอกจากการตรวจวัดก๊าซเรดอนภายในถ้ำ ปส. ยังได้สำรวจและตรวจวัดรังสีในสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ที่อาจมีระดับรังสีสูงจากวัสดุกัมมันตรังสีในธรรมชาติยูเรเนียม-238 และทอเรียม-232 คือ บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย และบริเวณซากดึกดำบรรพ์ ลานหินป่านพน จังหวัดสตูล
2. การสร้างอัตลักษณ์ของพืชพื้นถิ่น
ปส. ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการส่งผ่านของวัสดุกัมมันตรังสีในธรรมชาติยูเรเนียม-238 และทอเรียม-232 ที่มีอยู่เป็นปกติพื้นผิวดิน แล้วถูกดูดซึมไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืชพื้นถิ่นที่สำคัญ คือ จำปาดะ และพริกไทยสุไหงอุเป เพื่อบ่งชี้อัตลักษณ์รูปแบบการส่งผ่านวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องราวให้คุณค่าให้กับพืชทั้ง 2 ชนิด ว่าเหตุใดจึงเพาะปลูกได้ดี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นบนพื้นดินอุทยานธรณีโลกสตูล
3. การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้มีคุณค่าและถูกสุขอนามัย
ปส. บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล (อว. ส่วนหน้า จังหวัดสตูล)ในดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีให้กับประชาชนที่ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่อาจมีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ หาดทรายดำ บริเวณทะเลแหวกสันหลังมังกร และบริเวณเกาะมดแดง จังหวัดสตูล และผ้าย้อมสีด้วยแร่แทร์รารอสซ่า (Terra rosa หรือดินลูกรัง) อำเภอละงู นอกจากนี้ ปส. ยังดำเนินการตรวจติดตามคุณภาพด้านรังสีของน้ำทะเล และอาหารทะเล ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เนื่องจากสตูลเป็นพื้นที่สำคัญที่มีการดำเนินกิจกรรมทางนิวเคลียร์ ได้แก่ การเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอินเดียและปากีสถาน รวมถึงการเดินเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ จึงต้องมีการตรวจติดตามเพื่อการเฝ้าระวังคุณภาพด้านรังสีของน้ำทะเลและอาหารทะเล
4. การตรวจติดตามไมโครพลาสติกในระบบนิเวศวิทยาทางทะเล
ปส. บูรณาการร่วมกับ อว. ส่วนหน้า จังหวัดสตูล ลงพื้นที่เพื่อทราบถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และเกาะตะรุเตา โดยปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากนักท่องเที่ยวที่อาจเป็นต้นเหตุของไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นมลภาวะที่สำคัญของโลก ในปัจจุบัน ปส. กำลังเตรียมการร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ซึ่งจะมีประเทศในเอเชียเข้าร่วมทั้งหมด 16 ประเทศ ทั้งนี้ ปส. จะร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการข้อมูลไมโครพลาสติกและข้อมูลนิเวศทางวิทยาทางทะเลในการศึกษาวิจัยต่อไป
จากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปส. ได้นำผลการดำเนินการศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลก สตูล เข้าร่วมงานประชุมวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 7 (7th APGN, Asia Pacific Geoparks Network Symposium) ในการส่งเสริมผลักดันให้ "สตูล" เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางมรดกและวัฒนธรรม ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระหว่างวันที่ 6 - 11 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล โดยงานศึกษาวิจัยนี้สามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้อุทยานธรณีโลกสตูลสสมารถต่ออายุกับยูเนสโกเป็นอุทยานธรณีโลกต่อไปได้ อีกทั้ง ปส. ยังดำเนินการสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์แก่คนรุ่นใหม่ (เรียนรู้ รับฟัง รับรู้ ตัดสินใจ เพื่อการสร้างชุมชนเข้มแข็ง) ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์และรังสีตามมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับบุคลากรด้านวิชาการ นักศึกษา นักเรียน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ โดยมุ้งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน และพัฒนาโมเดล BCG ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมทางสังคม สร้างระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับสตูลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาชั้นนำและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน