การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ยั่งยืนจำเป็นต้องทราบถึงแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 เพื่อการจัดการและควบคุมการปล่อยมลพิษ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินแหล่งกำเนิดทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือของประเทศไทย และเสนอแนวทางในการจัดการ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในการประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ได้ใช้องค์ประกอบทางเคมีโดยเน้นตัวบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นแต่ละประเภทไปประมวลผลโดยใช้แบบจำลอง PMF จากข้อมูลของ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ในปี 2563 ระหว่างช่วงฤดูแล้งที่มีมลพิษหมอกควันซึ่งมีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยประมาณ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และช่วงฤดูฝนซึ่งมีค่าฝุ่นเฉลี่ยประมาณ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า
- สัดส่วนการเผาชีวมวลในช่วงมลพิษหมอกควัน (48%) สูงกว่าช่วงฤดูฝน (6%)
- ในขณะที่แหล่งกำเนิดจราจรคิดเป็น 10% ซึ่งน้อยกว่าช่วงฤดูฝน (69%)
- ส่วนฝุ่นทุติยภูมิในช่วงหมอกควันมีสัดส่วนประมาณ 27% ส่วนฤดูฝนมีเพียง 1%
ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปที่ว่าฝุ่นทุติยภูมิเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารมลพิษในบรรยากาศในช่วงที่มีการสะสมในพื้นที่เป็นเวลานาน
ส่วนการศึกษาสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศซึ่งมีศักยภาพในการผลิตโอโซนและละอองลอยทุติยภูมิ พบสารเด่นที่ปล่อยจากธรรมชาติ คือ ไอโซพรีน โดยไอโซพรีนที่ปล่อยจากป่ามีความสัมพันธ์กับฤดูกาลและการผลัดใบของต้นไม้ สำหรับแนวทางในการจัดการปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ควรเน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ การจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน การลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งการเผาในที่โล่งและการจราจร ในช่วงปีที่มีสภาวะแล้งมาก ควรมีการวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า และควรงดการเผาโดยเด็ดขาดในวันที่มีสภาพอากาศปิด และควรจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเพื่อลดปริมาณการจราจรและลดการปล่อยมลพิษ
ผลผลิตของโครงนื้ทำให้ทราบถึงข้อมูลรายวันความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ในช่วงการเก็บตัวอย่าง และองค์ประกอบทางเคมีในฝุ่น และสัดส่วนแหล่งที่มาของมลพิษอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน จากแบบจำลอง PMF รวมทั้งมีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลการปลดปล่อย BVOCs บริเวณภาคเหนือของไทย