ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากเปลือกและเศษเหลือของพืชกัญชงเชิงพาณิชย์

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
6 พฤษภาคม 2567

การวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากเปลือกและเศษเหลือของพืชกัญชงเชิงพาณิชย์

มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกัญชงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.

          เริ่มงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน และได้สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัย และพัฒนาพืชกัญชงในหลายมิติตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เข้าใจปัญหา และบริบทการส่งเสริมพืชกัญชงอย่างชัดเจน แม้กฎหมายจะเริ่มเปิดให้สามารถนำพืชกัญชงไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ แต่การดำเนินงานยังมีจุดที่เป็นคอขวดมากพอสมควร เช่น การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อเอาเส้นใย หรือการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์และเมล็ดบริโภค
          โดยพบว่าเป็นการใช้แรงงานคนเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต และต้นทุนแรงงานที่สูงมาก จนทำให้ราคาของผลผลิตกัญชงสูง และส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชง รวมถึงเศษเหลือทิ้งจากกัญชงและเศษหวดมาใช้แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร เกษตรแปรรูป และเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง จำหน่ายได้ทุกส่วน และลดการใช้แรงงานภาคเกษตรจำนวนมากได้ ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวต่ำลง รวมถึงการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าจากเศษเหลือทิ้งจากกัญชงและเศษหวด เพื่อที่เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนต่อไร่สูงขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อวัตถุดิบในราคาต่อตันที่ยอมรับได้ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญในการส่งเสริมพืชกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป็นตัวกำหนดทิศทางของการนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

ผลลัพธ์และผลกระทบที่ได้รับจากโครงการ

  1. องค์ความรู้ทางธุรกิจและการลงทุนจากการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือของพืชกัญชง
  2. องค์ความรู้ในการพัฒนาเส้นใยจากเปลือกกัญชง และกำหนดชั้นคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เส้นใยสำหรับสิ่งทอ เป็นต้น
  3. เครื่องลอกเปลือกต้นแห้งระดับครัวเรือนที่มีคุณภาพดี
  4. เครื่องครูดสางเส้นใยระดับครัวเรือน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายเปลือก-เส้นใยเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
  5. เครื่องนวดเมล็ดกัญชงระดับครัวเรือนที่ทำให้คุณภาพเมล็ดดีขึ้น
  6. สารเร่งการเจริญเติบโตของพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  7. วัสดุดูดซับน้ำมันและสารเคมีรั่วไหลจากแกนกัญชงที่มีน้ำหนักเบา ใช้งานง่ายสามารถกำจัดน้ำมันในทะเล และไม่สลายตัวในน้ำ
  8. วัสดุรองคอกสัตว์จากแกนกัญชง
  9. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ผลการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและการลงทุนในการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือของพืชกัญชงเชิงพาณิชย์ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงต่อไป