ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดลพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาไทย

มหาวิทยาลัยมหิดล
19 กุมภาพันธ์ 2567

สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดลพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาไทย

การจัดตั้งสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตามกรอบนโยบายและกฎกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2564

ิิ          เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศ สามารถผลิตบัณฑิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนและยกระดับสู่ความเป็นนานาชาติและดิจิทัล ก้าวสู่ Education hub ของประเทศไทยและเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล เพื่อเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ และเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักคือการส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจและเติมเต็มความสมบูรณ์ครบถ้วนและทันสมัยในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยการใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Digital Technology and Deep Learning, Internet of Things หรือ IoT, Cyber Security เป็นต้น 
          สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล เป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมและผู้ประกอบการใหม่ที่มีแนวคิดในเรื่องการบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าแก่ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถและศักยภาพในการเรียนรู้ทักษะใหม่และก้าวหน้าเติบโตโดยผ่านกระบวนการเรียนการสอน โดยการเรียนรู้แบบไม่จำกัด ไม่เฉพาะในห้องเรียน แต่มีการผสมผสานทั้งการเรียนในชั้นเรียน การเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการเก็บหน่วยกิตและใบรับรองเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาขั้นสูงต่อไปได้ในอนาคต ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าและเชี่ยวชาญในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพในทุกสาขา ตัวอย่างเช่น การใช้ AI สำหรับการเอกซเรย์ก้อนเนื้อ การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 โดยใช้ข้อมูลจากระดับประชากร และระดับเซลล์เดี่ยว การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยง และการดำเนินโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคมะเร็ง และการใช้ AI เพื่อวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก 
          สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ตั้งอยู่ ณ ลาน Innovative Space ชั้น 1 อาคารคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565  โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี สถาบันดังกล่าวมีเป้าประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้าและวิจัยด้านการแพทย์ โดยเริ่มมุ่งเน้นที่จีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ พยาธิวิทยา รังสีวิทยา และระบบนำทาง โดยใช้ edge AI ในการช่วยเหลือคนพิการทางสายตา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยแบบ AI Federated Learning (FL) และช่วยให้นักวิจัยสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในโลกบนแพลตฟอร์มที่ทันสมัย ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ในขั้นต้นสถาบันฯ ยังได้รับทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสนับสนุนให้กับโครงการการใช้ Federated Learning (FL) สำหรับรูปภาพทางการแพทย์ และโครงการสร้างแพลตฟอร์มการค้นคว้ายาแบบบูรณาการด้วยปัญญาประดิษฐ์

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการฯ  ได้มีการดำเนินการดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง ที่รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นทั้งหมด สำหรับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล พร้อมทั้งมีการจัดทำหลักสูตรสาขาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัล (B.S. in Digital Science and Technology-DST) และการออกแบบหลักสูตร Reskill/Upskill สำหรับการใช้งานโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์

         นอกจากนี้สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดลยังสร้างความร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาการใช้ระบบ AI ในระยะแรก อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายแห่ง นำไปสู่การตีพิมพ์ผลงานวิจัยด้าน AI ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Q1 Papers และการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อการพัฒนาต่อยอด ปัจจุบันมีผลงานที่เกิดขึ้นและอยู่ระหว่างการดำเนินงานหลายชิ้น ได้แก่ การประมวลผลข้อมูลโอมิกส์ เพื่อการออกแบบยาใหม่สำหรับโรคมะเร็ง การจัดหาทีมพยาธิแพทย์ที่ดูแลด้าน Digital Pathology และโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการคิดค้นยาที่บูรณาการศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์