ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

วัคซีนใจแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

กรมสุขภาพจิต
25 มีนาคม 2567

วัคซีนใจแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

          วัคซีนใจ พัฒนาต่อยอดให้คนไทยได้จดจำจาก keywords “อึด ฮึด สู้” ของคนไทย อันเป็นแนวคิดความเข้มแข็งทางใจ (Resilience) สู่แนวปฏิบัติของกรมสุขภาพจิตที่นำมาใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชนยามเกิดวิกฤต ณ ปัจจุบันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ได้ทำให้คนไทยทุกข์ใจ จำเป็นต้องสร้างสุขภาพจิตปลุกใจที่เข้มแข็งให้คนไทยตื่นตัวในทุกระดับ ทั้งต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน กล่าวคือ เป็นมาตรการด้านสุขภาพจิตที่กรมสุขภาพจิตเผยแพร่ โดยส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนใจในระดับต่าง ๆ ได้แก่ 
  1. วัคซีนใจในระดับบุคคล เน้นในเรื่องการส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟู
  2. วัคซีนใจในระดับครอบครัว เน้นในเรื่อง 3 พลัง ได้แก่ พลังบวก โดยการมองสถานการณ์ให้เป็นในเชิงบวกเพื่อพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น พลังยืดหยุ่น เป็นบทบาทที่จะสามารถสร้างการปรับตัวและทำหน้าที่ทดแทนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ พลังร่วมมือ เป็นพลังในการสร้างความปรองดองและก้าวผ่านวิกฤตไปได้
  3. วัคซีนใจในระดับชุมชน โดยสร้างชุมชนที่รู้สึกปลอดภัย สร้างชุมชนที่มีความหวัง สร้างชุมชนที่รู้สึกสงบ สร้างชุมชนที่เข้าใจและโอกาสใช้ศักยภาพของชุมชน พัฒนาเครือข่ายในการช่วยเหลือสื่อสารและใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมาย ไว้ใจ ให้กำลังใจ และส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในสังคม
          ผลลัพธ์ของโครงการที่กรมสุขภาพจิตได้ใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนาต่อยอดเป็นนโยบาย “การเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชน” ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดโรคนี้ ป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว โดยปรับแนวปฏิบัติดำเนินงานในระดับ “บุคคล” ไปสู่ “ชุมชน” มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีความเข้มแข็งทางใจทั้งในระดับบุคคลและในระดับชุมชน (Individual and community resilience) ด้วยหลักการสำคัญของ Mental health and psychological supports และการใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อดึงศักยภาพและสายสัมพันธ์ในชุมชนมาใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชน

กรมสุขภาพจิตนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยกลยุทธ์การขยายผล (implementation and scaling up strategies) ที่ทำให้เกิดการปฏิบัติมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคม คุณค่าของสังคม และแก้ไขปัญหาที่ตามมาของการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว (โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ) เป็นเป้าหมายสร้างความยั่งยืนได้ต่อไป “เสริมสร้างวัคซีนใจ” เป็นที่ยอมรับการดำเนินงานในพื้นที่ของผู้ปฏิบัติงาน และช่วยส่งเสริมปัจจัยปกป้องปัญหาสุขภาพจิตในระดับของชุมชนได้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้การขยายผลครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีการกำกับติดตามโดยผู้บริหารในพื้นที่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และช่วยให้ชุมชนสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาร่วมในพื้นที่ให้มากขึ้น

          ดังนั้นการขยายผลให้ครอบคลุมทุกระดับตำบลนั้นอาจต้องใช้กลยุทธ์อื่นเข้ามาร่วมด้วย อาทิ การเพิ่มงบประมาณ การสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงาน เป็นต้น อีกทั้งสาเหตุของการนำไปใช้แบบไม่เต็มรูปแบบหรือการประยุกต์ใช้ พบว่า ร้อยละ 64.2 ยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวโปรแกรม ร้อยละ 53.2 ไม่มีงบประมาณในการดำเนินงาน ร้อยละ 39.8 ยังขาดความมั่นใจในการนำกระบวนการไปใช้ และ ร้อยละ 25.4 ไม่มีเครือข่ายช่วยในการดำเนินงานเป้าหมายถัดไปจะมีอำเภอที่เข้าร่วมดำเนินงานบูรณาการงานสุขภาพจิตนี้ร่วมกับการควบคุมโรค COVID-19 โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ จำนวน 856 อำเภอ 40 เขตในกทม. รวม 899 แห่ง (จำนวนทั้งหมด 928 แห่ง) คิดเป็นร้อยละ 96.87 ของพื้นที่ทั้งหมด