ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
18 มีนาคม 2567

แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ตามหลักการ “ทำน้อย ได้มาก” มาพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain)

          ทั้งต้นน้ำด้านการผลิตผลิตผลทางการเกษตร กลางน้ำด้านการสกัดและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในระดับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลายน้ำด้านการขนส่ง การตลาด และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมุ่งเน้นไปในจังหวัดที่มีวัฒนธรรมและมีผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ อันจะสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมจากฐานรากด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี โดยได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของ วว. ให้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในอนาคต
        จากการดำเนินโครงการ สามารถดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้อย่างครบถ้วน สำหรับผลการวิเคราะห์มูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว พบว่า สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 117.7339 ล้านบาท 
          ทั้งนี้เป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจำนวน 96.3511 ล้านบาท มูลค่าผลกระทบทางสังคมจำนวน 21.3217 ล้านบาท และมูลค่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจำนวน 0.0611 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อทำการ sum up มูลค่าที่เกิดขึ้นจากกลุ่มตัวอย่างเป็นมูลค่าของผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดโดยคิดจากมูลค่าเฉลี่ยต่อรายคูณกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด ส่งผลทำให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,107.4065 ล้านบาท (มูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวน 920.9453 ล้านบาท และมูลค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจำนวน 186.4612 ล้านบาท)  มีอัตราส่วนผลได้ต่อการลงทุน เท่ากับ 31.03 เท่า

จึงแสดงให้เห็นว่า เงินลงทุนในการดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากฯ ของ วว. 1 บาท ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เท่ากับ 31.03 บาท จึงสรุปได้ว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าวของ วว. เป็นโครงการที่มีความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าแก่การลงทุน