ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

นวัตกรรมผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

กรมวิชาการเกษตร
26 กุมภาพันธ์ 2567

นวัตกรรมผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

          ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระบบการจัดการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลตอบแทนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีความยั่งยืนในการผลิตทั้งระบบซึ่งต้องใช้ปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประสบปัญหาด้านการผลิต เช่น ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตเข้าโรงงานน้อยกว่ากำลังการผลิต คุณภาพผลผลิตต่ำส่งผลต่ออัตราการสกัด กระทบต่อเนื่องไปถึงราคารับซื้อผลผลิตและต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
          สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในด้านการวิจัยปาล์มน้ำมัน จึงมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยแก่เกษตรกรซึ่งเป็นภาคส่วนใหญ่สุดในระบบการผลิต 370,000 ครัวเรือน โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศ โดยประมวลเทคโนโลยีด้านการผลิตทั้งหมดในรูปแบบนวัตกรรมปาล์มน้ำมันประกอบด้วย การจัดการน้ำ การจัดการธาตุอาหารตามผลวิเคราะห์ดิน-ใบ (ตามความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของปาล์มน้ำมัน) การอารักขาปาล์มน้ำมัน (โรค-สัตว์ศัตรู-วัชพืช) การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพ การเพิ่มศักยภาพการใช้ที่ดิน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ย การตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม) และคำนวณรายรับ-รายจ่าย การดำเนินการมีการอบรมทั้งบรรยาย-ปฏิบัติ การประเมินความเข้าใจในนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน การติดตั้งระบบให้น้ำด้วยตัวเองการให้ปุ๋ยพร้อมน้ำ และการเผยแพร่นวัตกรรมปาล์มน้ำมันแก่เกษตรกรผู้สนใจ

ผลกระทบที่ได้รับจากโครงการช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ดินมีความยั่งยืนในการผลิต ศักยภาพการใช้ที่ดินที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ยเพิ่มขึ้น คำนวณปริมาณน้ำและวางแผนใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินการใช้ปุ๋ยได้ด้วยตัวเองจากลักษณะขาดธาตุอาหารและผลวิเคราะห์ดิน

          ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้เกษตรกรผลิตปาล์มน้ำมันเต็มรูปแบบนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน มีความสุขและความยั่งยืนในการประกอบอาชีพสวนปาล์มน้ำมัน และหากดำเนินการในภาคใต้ได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อลานเท โรงงานสกัด-โรงงานกลั่น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม พร้อมนี้คณะผู้ดำเนินงานได้ดำเนินการของบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวม 10 จังหวัดในการขยายผลโครงการเพิ่มศักยภาพปาล์มน้ำมันฯ เนื่องจากมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก