ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

“การท่องเที่ยวสีเขียว” (Green Tourism) ภายใต้คอนเซป “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 มีนาคม 2567

“การท่องเที่ยวสีเขียว” (Green Tourism) ภายใต้คอนเซป “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน”

การวิจัยนี้เชื่อมโยงแผนงานวิจัยจากโครงการย่อยภายใต้แนวทางการขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวสีเขียว” (Green Tourism) โดยแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย และผลลัพธ์จากทั้ง 5 โครงการย่อยมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดน่านในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด BCG

ปัญหาที่นำมาสู่การวิจัย

  1. ชุมชนเมือง ปัจจุบันพบว่าปริมาณขยะในหลุมฝังกลบของเทศบาลเมืองน่านมีปริมาณมาก แม้จะมีกระบวนการคัดแยกขยะที่สามารถเป็นต้นแบบได้ แต่ยังขาดการลดปริมาณขยะจากต้นทางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงขยะอาหารจากภาคการท่องเที่ยวและครัวเรือน
  2. ชุมชนเกษตร ปัจจุบัน พบว่ามีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณมากเพื่อการผลิตและส่งออกตอบสนองต่ออุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อการบริโภคภายในจังหวัดได้อย่างเพียงพอและมีความปลอดภัย
  3. ไม่มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่น แต่เน้นการนำเข้ามาจากภายนอกจังหวัดน่าน
  4. ขาดความเชื่อมโยงระหว่างตลาดการท่องเที่ยวสีเขียวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน
          การวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่จะสร้างศักยภาพของจังหวัดน่านในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ด้วยโมเดล BCG ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลักษณะการดำเนินงานแบบหุ้นส่วน (Partnership) การดำเนินงานของทั้ง 5 โครงการย่อย ภายใต้มิติเศรษฐกิจทั้ง 3 มิติ จะส่งเสริมให้จังหวัดน่านมีความสามารถในการแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวสีเขียว ซึ่งแนวทางในการบูรณาการเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ของทุกโครงการ จะนำเสนอในรูปแบบของแผนที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดน่าน ในชื่อ “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน” (Green Travel, Healthy Food, Nan Art Appreciation Map)

ผลผลิตและผลลัพธ์

  1. ผลิตภัณฑ์จากไผ่ทดแทนพลาสติก เช่น ตะกร้า จานเบรค และหูหิ้วแก้วน้ำ
  2. การยกระดับระบบการบริหารจัดการขยะในเขตเทศบาลเมืองน่าน ได้แก่ วัด ตลาด โรงเรียน ชุมชน และผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ
  3. ต้นแบบในการนำผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  4. น้ำยาทำความสะอาดเข้มข้นจากกากไขมัน
  5. ถังหมักกรีนโคน: ถังหมักรักษ์โลก
  6. น้ำหมักดับกลิ่นและสลายคราบไขมัน
  7. ต้นแบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์
  8. นวัตกรรมสิ่งทอจากเส้นใยไผ่ เช่น ผ้าทอจากเส้นใยไผ่ที่เหลือทิ้ง
  9. แผนที่ท่องเที่ยวสีเขียว และรายการนำเที่ยวสีเขียวจังหวัดน่าน

ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

  1. เกิดการกระจายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว สินค้าสีเขียวและกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียวในจังหวัดน่าน ผู้ประกอบธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยวและร้านค้าในท้องถิ่นมีช่องทางในการโปรโมทสินค้า
  2. มีการขยายและพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวในวงกว้างขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการได้สะดวกมากขึ้น
  3. แนวทางการปฏิบัติที่ดีจากตัวอย่างชุมชน/โรงแรม/แปลงเกษตร/ร้านค้า/ตลาด/วัด ที่นำร่อง สามารถขยายเครือข่ายการรับรู้การท่องเที่ยวสีเขียว ด้วยแผนที่การท่องเที่ยวสีเขียว
  4. ผลงานการวิจัยและข้อเสนอแนะต่าง ๆ สามารถผนวกเข้ากับแผนนโยบายของท้องถิ่นและจังหวัดน่าน ทำให้สามารถร่วมกันพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเมืองน่าน