ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

นักวิชาการแนะ Reskill-Upskill เตรียมพร้อมก่อนเปิดประเทศ สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

10 สิงหาคม 2565

นักวิชาการแนะ Reskill-Upskill เตรียมพร้อมก่อนเปิดประเทศ สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุลในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยโครงการ “การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ” ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล

กล่าวว่า ภาพรวมของงานวิจัยชุดดังกล่าว เป็นการศึกษาหาแนวทางการในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประกอบไปด้วยการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Destination) เช่น กลุ่มกอล์ฟ กลุ่มวิ่งมาราธอน กลุ่มจักรยาน มวยไทยและการท่องเที่ยวเชิงสปาทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการสปาที่มีมาตรฐาน 

“ปีนี้เป็นปีที่ 2 นักวิจัยมีการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาพบว่า การกระตุ้นการท่องเที่ยว คือต้องมีข้อมูลเชิงลึกในการวางแผนกลยุทธเพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยมีจังหวัดต่างๆ ที่เป็นจังหวัดนำร่อง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ราชบุรี และเชื่อว่าโครงการนี้เป็นการช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการให้เตรียมความพร้อมในธุรกิจของตัวเองหลังจากเกิดวิฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบการท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ งานวิจัยมีการศึกษาและวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน โดยเกิดนวัตกรรมที่หลากหลายจากการดำเนินการศึกษาวิจัย ได้แก่ โมเดลธุรกิจการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพด้วยนวัตกรรมบริการบนฐานมรดกวัฒนธรรมและจิตบริการแบบไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนระบบการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพของไทยสู่การเป็น Global Wellness Tourism Destination นั่นเอง

นอกจากนี้ ศ.ดร.วิภาดา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากบทสรุปของการทำงานวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนเชิงสังคม หรือ Social Return on Investment (SROI) ความคุ้มค่าของโครงการวิจัยจากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงสังคมเพิ่มเติมจากด้านเศรษฐกิจจากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ใช่เพียงแค่มาเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้นแต่เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้นด้วย

“เรามีแผนหรือชุดความรู้ใหม่ที่นำมาใช้กับกีฬาและสปา โดยเป็นรูปแบบชุดความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย เช่น ถ้าจะเปิดธุรกิจสปา ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทาน หรือผู้ประกอบการสนามกอล์ฟควรจะมีกระบวนการอะไรเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงสังคมด้วย โดยพบว่าไม่ว่าธุรกิจสปาหรือในเรื่องการจัดงานวิ่งมาราธอน ก็ทำให้เกิดมูลค่าที่เกี่ยวกับผลตอบแทนทางสังคมด้วย ไม่ใช่แค่เห็นเป็นมูลค่าทางการเงินอย่างเดียว”

ขณะเดียวกันงานวิจัยชุดดังกล่าว ศ.ดร.วิภาดา ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยเสนอให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อนมีการเปิดประเทศ เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ รวมไปถึงการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ Reskill และ Upskill ตามบทบาทความรับผิดชอบทั้งผู้ประกอบการ และพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต  

อนึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น โครงการการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ จึงมีการปรับการดำเนินการและได้ผลการวิจัยที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจสปาและกีฬา และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ และเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป