ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV)เริ่มเข้าแทนที่เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่องค์ความรู้ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอกับรถทุกประเภทโดยเฉพาะรถบรรทุก ซึ่งถือเป็นภาคการขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตรถบรรทุกเพื่อการขนส่งเกือบทุกประเภท และรถที่ใช้ในสนามบินมายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันบริษัทยังมีธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวกับนวัตกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากที่บริษัทร่วมกับซัพพลายเออร์พัฒนารถดันเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าสำเร็จเป็นรายแรกของโลกซึ่งได้มีการนำไปจัดแสดงที่เมืองลาสเวกัสและกรุงมิวนิกเมื่อปี ค.ศ.2017 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การวิจัยพัฒนาและต่อยอดใน“โครงการสร้างรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าต้นแบบของคนไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า สถานีทดสอบและบริการซ่อมบำรุง แพลตฟอร์มดิจิทัลการบริหารกลุ่มรถ และการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า” นี้ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) “บริษัทในฐานะผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่ของประเทศมองว่า ปัจจุบันรถบรรทุกไฟฟ้าที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาเพื่อทดสอบยังไม่ได้มีการใช้จริง บริษัทจึงเห็นโอกาสในการพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าและสร้างอุตสาหกรรม EV Conversion และห่วงโซ่คุณค่าขึ้นในประเทศ”
เมื่อ บพข.เปิดโอกาสให้ส่ง Proposal บริษัทจึงไม่ลังเลเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนในครั้งนี้ ภายใต้โจทย์วิจัยและสมมติฐานของโครงการวิจัยนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คือ เพื่อ “พิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีการผลิตรถบบรรทุกพลังงานไฟฟ้าต้นแบบ” และ “พิสูจน์ว่ารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าสามารถขยายผลใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงใน TRL9” มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 2 ปี (ปีที่ 1ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2564 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2566)โดยจะต้องพัฒนารถต้นแบบขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 6 คัน แบ่งเป็น ปีแรกจะต้องดำเนินการพัฒนาและส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบ3 ประเภท ประกอบด้วย รถ 4 ล้อ , รถบรรทุก 6 ล้อ และ 10 ล้อ รวม 3 คัน และปีที่สอง จะต้องส่งมอบ รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าต้นแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ทั้ง 3 ประเภทอีกจำนวน 3 คัน”คุณพนัส กล่าว
วัตถุประสงค์ของการทำโครงการฯ เพื่อดัดแปลงรถบรรทุกแบบสันดาปเป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV Conversion) ใน 3 ประเภท หรือ 3 โมเดล พร้อมกับดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของชิ้นส่วนต่าง ๆ ทดสอบรูปแบบการใช้งาน และทดสอบการใช้งานของรถในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อให้ได้รถที่เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพถนนและภูมิอากาศของไทย เพราะรถ EV จะมีปัญหาเรื่องของความร้อน ดังนั้นงานวิจัยนี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และชิ้นส่วนสำคัญเพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าใหม่จำนวน 3 โมเดล ที่มีการออกแบบสมัยใหม่ ใช้วัสดุน้ำหนักเบา และแบตเตอรี่ที่บริษัทพัฒนาขึ้นรวมทั้งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงรถให้เข้ากับความต้องการใช้งานของอุตสาหกรรมในแต่ละประเภท นอกจากนี้องค์ความรู้ที่ได้ จะนำไปถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับสายการผลิตในอนาคตผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยนเรศวร ฯลฯ
คุณพนัส กล่าวอีกว่า นอกจากจะทดสอบเรื่องสภาพการใช้งานของรถที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องมีการทดสอบถึงเรื่องความคุ้มทุน เพราะรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ายังมีราคาสูงโดยเฉพาะแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกและชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยยังต้องนำเข้าดังนั้น เมื่อรถ EVเข้ามาจะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์สันดาปจะหายไป จึงต้องเตรียมพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับสายการผลิตในอุตสาหกรรม EV Conversion ที่กำลังจะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน สำหรับชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV ประกอบด้วย Vehicle Control Unit (VCU) หรือ กล่องควบคุม ซึ่งถือเป็นหัวใจของรถ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบและพัฒนา, มอร์เตอร์ไฟฟ้า (Electric Motor) กำลังสูง เพื่อรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า จะเป็นตัวขับเคลื่อน อยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้เหมาะสมกับอัตราการใช้งานของรถบรรทุกแต่ละประเภท (4 ล้อ ,6 ล้อ และ 10 ล้อ) ให้เป็นของตัวเองเพื่อหวังว่าจะสร้างห่วงโซ่คุณค่า(Supply Chain) ให้กับประเทศในอนาคต และอีกชิ้นส่วนสำคัญ คือ ระบบการชาร์จอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อลดระยะเวลาในการชาร์จให้สามารถชาร์จได้เร็วขึ้น ขณะนี้กำลังพัฒนาหัวจ่ายแบบเร็ว หรือ DC Quick Charge (DC) สำหรับรถบรรทุกซึ่งจะมีกำลังชาร์จสูงประมาณ 150 กิโลวัตต์ ใช้เวลาในการชาร์จ 45 นาที จากเดิมที่ใช้เวลานาน 3 – 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง
โดยบริษัทฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนเหล่านี้เพื่อจะนำมาใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าในประเทศร่วมกับหน่วยงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ( Industrial Technology Research Institute, ITRI) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น นอกจากนี้ทุนสนับสนุนที่ได้รับจาก บพข.ทางบริษัทยังนำมาพัฒนาแอปพลิเคชั่น “แพลตฟอร์ม”เพื่อเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลการใช้งานและสถานการณ์ของรถบรรทุกให้กับผู้ประกอบการ สามารถตรวจสอบสถานะของรถได้ตลอดระยะทางนอกจากรู้ตำแหน่งของรถแล้ว ยังรู้ถึงการใช้งานของรถว่าเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องการออกตัว ระยะการวิ่ง หรือแม้แต่สถานภาพของแบตเตอรี่ ขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญและการทดสอบประสิทธิภาพของรถ EV Conversion ต้นแบบ ล่าสุด บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบทั้ง 3 ประเภท ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประกอบรถและปรับจูนระบบ ส่วนรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าอีก 3 โมเดล ขณะนี้เริ่มออกแบบไว้แล้ว เตรียมดำเนินการพัฒนาต่อในเฟสที่สองพร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มคาดว่า จะดำเนินการส่งมอบรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าต้นแบบและสามารถสร้างอุตสาหกรรม EV Conversionได้ ภายในต้นปี 2566 สอดรับกับแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศตามนโยบาย 30/30 ของภาครัฐ ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573