‘โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน’ เป็นงานวิจัยที่เกิดจากการผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
โดย นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก และหัวหน้าโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน กล่าวถึงการทำโครงการวิจัยครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการทราบผลกระทบของสถานที่และสภาพแวดล้อมที่มีต่อการบริหารจัดการขยะพลาสติก และตอบสนองวาระแห่งชาติเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทยด้วย
สำหรับขั้นตอนงานวิจัยจะศึกษาในส่วนของ ผู้บริโภคเขตปทุมวันที่เป็นเขตเมืองชั้นในซึ่งเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ และเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคในพื้นที่สยามพิวรรธน์ คือ สยามพารากอน สยามเซนเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี โดยจะทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มาจากตัวบุคคล และสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม สำนักงาน ศูนย์การค้า ฯลฯ ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมที่มีผลต่อการทิ้งบรรจุภัณฑ์พลาสติก และคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อศึกษา สร้างความเข้าใจและหาเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งและการคัดแยกขยะพลาสติกได้ถูกต้องตามหลักการรีไซเคิลได้จริง ๆ หรือที่เรียกว่า Sort at Source หมายถึงการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง
นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่ 2 คือ Value Chain และ Supply Chain ด้านกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งการรีไซเคิล สามารถแยกออกเป็น 2 แบบ คือ Mechanical Recycle คือการรีไซเคิลแบบเชิงกล และ Chemical Recycle ที่มีการนำเศษพลาสติกเข้าสู่กระบวนการทางเคมีให้ได้ออกมาเป็นน้ำมันปิโตรเลียม เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นจะเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อไป หลังจากนั้นทีมวิจัยจะถอดบทเรียน และนำผลการศึกษามาพัฒนาและจัดทำแบบแผนธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างยั่งยืน เป็นการลดการเพิ่มขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล อีกทั้งทำแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มเข้ามาเชื่อมโยงและสนับสนุนข้อมูลทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายวีระได้ประเมินและคาดการณ์ผลการวิจัยโครงการนี้ไว้ว่า จะช่วยให้เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติกใน ประเทศไทยได้ประมาณ 2,190 ตันต่อปี อีกทั้งยังมองว่า การวิจัยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมคือ 1.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งเป็นต้นทางของการเกิดขยะพลาสติกการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและรู้วิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องและสถานที่ทิ้ง 2.ศูนย์คัดแยกขยะที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำและถูกทิ้ง สามารถคัดแยกและรวบรวมเพื่อจัดส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลที่มีการบริหารจัดการที่ดี และ 3. โรงงานรีไซเคิล ที่สามารถปรับปรุงให้มีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่เรียกว่า พลาสติก PCR หรือ Post – Consumer Recycled เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นการยกระดับการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลและสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง
นายวีระ มองไปถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นได้ การทำงานโครงการวิจัยจึงต้องตอบโจทย์ ‘Business Model’ ด้วยการยึดหลัก 3P คือ Profit หรือผลกำไรที่ทำให้ทุกภาคส่วนอยู่ได้ ต่อมาคือ People คนและสังคมอยู่ได้ ซึ่งธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังกลุ่มนี้ได้ สุดท้ายคือ Planet ธุรกิจจะช่วยสร้างประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกอยู่ได้
หากกล่าวถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หัวหน้าโครงการกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทำงานจะเกิดประโยชน์กับทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ลำดับต่อมาคือ สังคมที่รวมถึงผู้บริโภค และต่อมาคือ ประเทศชาติ เมื่อขยะพลาสติกถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ค่าบริหารจัดการลดลง การนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศก็ลดลงด้วย รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น หรือแม้แต่ขยะที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ในอนาคตข้างหน้าก็สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เช่นกัน”