
รายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2566
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ประธานกรรมการ (รองศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน) กล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2566
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
ระเบียบวาระที่ 2.1 รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 4/2565
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงาน การประชุมและแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยมีกรรมการขอแก้ไข 2 ท่าน ดังนี้
1. ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ขอแก้ไขข้อความในหน้า 10 เป็นความว่า
• ในเรื่องของการมี Single Agency นั้น เมื่อพิจารณาจากระบบของนานาประเทศนั้น ไม่มีหน่วยงานใดที่มีลักษณะเป็น Single Agency อย่างชัดเจนในระบบ NQI ของนานาประเทศ
ควรจัดทำภาพรวมของระบบ NQI โดยอาจกำหนดโจทย์จากประเด็นเร่งด่วน/สำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงานและการทำงานข้ามกระทรวง ทั้งนี้ การเลือกวิเคราะห์เป็นรายกลุ่ม (Sector) ควรคำนึงถึงประเด็น (1) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (3) ความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม (3) ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ไทยทั้งตลาดในและต่างประเทศ (4) การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งกัน และ (5) ระบบที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของประเทศ
2. ผู้แทน สำนักงาน ก.พ.ร. ขอเพิ่มเติมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ในหน้า 10 ดังนี้
• ในการปฏิรูประดับหน่วยงาน…และแบบมี พ.ร.บ. เฉพาะ อีกทั้งตามคำแนะนำของ UNIDO ที่ระบุว่า ไม่ควรให้หน่วย AB และหน่วย CAB อยู่ในหน่วยงานเดียวกันนั้น ไม่ได้ชี้ชัดถึงความรุนแรงผลกระทบ หรือระบุว่าเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขทันที ดังเช่นในกรณีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือ IUU Fishing ดังนั้น อาจชะลอการพิจารณาประเด็นการแยกหน่วย AB และหน่วย CAB นี้ออกไปภายหลังการแก้ปัญหา NQI ในภาพใหญ่ของประเทศ
และขอให้เพิ่มเติมข้อความต่อไปนี้ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
• แนวทางการดำเนินการต่อไป ควรมีการจัดทำ NQI Transitional plan ในภาพใหญ่ของประเทศ เพื่อระบุสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะ Quick Win ระยะกลาง และระยะยาว เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา เนื่องจากการขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
มติที่ประชุม รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 4/2565
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่ 3.1 ข้อเสนอการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI for Competitiveness)
นางสาวสิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำเสนอการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการฯ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานให้มีการจัดทำข้อเสนอภาพรวมของระบบระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI)
นายภาสพงศ์ อารีรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบบริหารจัดการของภาครัฐด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. นำเสนอข้อเสนอการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI for Competitiveness) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑. สถานภาพของระบบ NQI ของประเทศไทยในปัจจุบัน
ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเด็น การปรับบทบาทและโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งได้รับการบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน หากพิจารณาถึงภาพรวมดัชนีโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๔ (Global Quality Infrastructure Index (GQII) Ranking) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๓๓ จาก ๑๘๔ ประเทศทั่วโลกแม้ว่า ประเทศจะได้รับการจัดอันดับที่ค่อนข้างดี แต่เมื่อพิจารณา ในรายละเอียดเชิงคุณภาพพบว่ายังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีกจำนวนมาก
๑.๑ ด้านมาตรวิทยา: ยังมีปัญหาเรื่องความสามารถทางการวัด (Calibration and Measurement Capabilities, CMC) ในบางสาขาและมีระดับความไม่แม่นยำ (uncertainty) ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าร่วม International Key Comparisons (KC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับหน้าที่เป็น Pilot lab รวมถึงเป็นสมาชิกของ International Committee for Weights and Measures (CIPM) และ CIPM Consultative Committees (CCs)
๑.๒ การกำหนดมาตรฐาน: ประเทศไทยยังมีการเข้าร่วมกระบวนการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO & IEC ใน Technical Committee & Subcommittee อยู่อย่างจำกัด โดยหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่ามีการเข้าร่วมในลักษณะ Observing หรือไม่เข้าร่วมเลยอยู่ในหลาย Technical Committee และ Subcommittee และยังไม่สามารถสร้างบทบาทของการเป็นเลขานุการในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดโลกจำนวนมาก เช่น ยางพารา ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเลขานุการ
๑.๓ การรับรองระบบงานและการตรวจสอบและรับรอง: ปัจจุบันยังมี ความครอบคลุมขอบเขตการรับรองอยู่ในระดับที่ไม่สูง (ร้อยละ ๖๕) โดยขาดในส่วนที่อยู่ภายใต้ขอบเขต การรับรองของ International Accreditation Forum (IAF)
๑.๔ การกำกับดูแลตลาดและข้อกำหนดทางเทคนิค: ปัจจุบัน มาตรฐานและข้อกำหนดทางเทคนิคยังมีความลักลั่น หมายความว่า ในบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้อกำหนดทางเทคนิคมีการกำหนดเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งตามหลักการแล้ว มาตรฐานจะต้องมีเกณฑ์ที่สูงกว่าข้อกำหนดทางเทคนิค และการดำเนินงานในการกำกับดูแลตลาดยังไม่เน้นกลการดำเนินงานเชิงรุกมากนัก
๒. การขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพ (NQI) ในระยะเริ่มต้น
๒.๑ หลักการของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ
การดำเนินงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย ควรเริ่มต้นจากการกำหนดประเด็นเร่งด่วน/สำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงานที่มีการทำงานข้ามกระทรวง ซึ่งควรคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
๑) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
๒) ความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม
๓) ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ไทย ทั้งตลาดในและต่างประเทศ
๔) การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งกัน
๕) ระบบที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของประเทศ
๒.๒ กลไกการขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย
ระยะเริ่มต้น/ปรับตัว: ควรกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้บริการด้าน NQI ของประเทศที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล
– ผู้ใช้บริการ (End User/Demand side) ได้รับคูปองสำหรับการใช้บริการด้าน NQI ได้รับประโยชน์จากการใช้บริการ เช่น การเข้าถึง ได้ง่ายขึ้นความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน เป็นต้น
– ผู้ให้บริการ (Supply side) จะยกระดับความสามารถในการให้บริการ ให้ตอบสนองกับความต้องการเพิ่มขึ้น และจะเกิดการปรับมาตรฐานสู่ระดับสากลเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณในส่วน ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระบบ NQI
ระยะกลาง: การสร้างระบบนิเวศการให้บริการ NQI ของประเทศให้เข้มแข็ง
– ใช้หลักการของกลไกตลาดเพื่อก่อให้เกิด NQI Ecosystemที่เข้มแข็ง
– พัฒนาทุกๆ มาตรฐานของประเทศไทย ได้รับการรับรองในระดับสากล
– สร้างความเชื่อมั่นให้กับมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของประเทศ
ระยะยาว: สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการให้บริการและดึงดูดการลงทุน ด้าน NQI
– พัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการด้าน NQI ให้มีความเข้มแข็งและ มีขนาดใหญ่
– มีธุรกิจการให้บริการด้าน NQI สำหรับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
– ดึงดูดการลงทุนระบบ NQI จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐสามารถลด การใช้งบประมาณสนับสนุนได้
๒.๓ การเตรียมความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพใน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย
มาตรวิทยา (Metrology)
– Coverage: เพิ่มความสามารถในด้านสำคัญที่ยังขาดอยู่
– Consistency: พัฒนาความแม่นยำในการวัดให้เข้าใกล้ประเทศชั้นนำ มากยิ่งขึ้น
– Comparison: มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพทางด้านมาตรวิทยาในบางสาขาที่มีโอกาสที่จะทำให้สามารถเข้าร่วมเป็น Key Comparison ในระดับ Pilot Test ได้
มาตรฐาน (Standard)
– Convene: เข้าร่วมเป็น Participating Committee ในกระบวนการกำหนดมาตรฐานในด้านที่กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์
– Chair: ผลักดันในการเสนอตัวเป็น Secretariat ในสาขาที่ประเทศไทย มีสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สูงในตลาดโลก
– Change: ปรับปรุงมาตรฐานของไทยให้สามารถทัดเทียมกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
การรับรองระบบงานและการตรวจสอบและรับรอง (AB/CAB)
– สร้างความสามารถในการรับรองระบบงานให้ครบถ้วน
– ส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้มีความสามารถในการเป็นหน่วยรับรอง
– ภาครัฐทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาศักยภาพ การรับรองระบบงานต่าง ๆ ของภาคเอกชน
ส่วนสุดท้าย NQI Portal เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการเข้าถึงบริการด้านคุณภาพแบบครบวงจร รวมทั้งระบบติดตามการพัฒนาศักยภาพระบบ NQI
๓. (ร่าง) พ.ร.บ. การส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (NQI for Competitiveness) ประกอบด้วย
๓.๑ หลักการและเหตุผล
๑) คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศ เป็นกลไกสำคัญ ในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีและตลาด จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคการผลิตและบริการให้มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนประเทศบนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
๒) วัตถุประสงค์: เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบและรับรองมาตรฐานสู่ระดับสากล และเพื่อการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศที่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ดำเนินการโดย:
• การสนับสนุนของภาครัฐ:
– การจัดสรรงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน ที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาหน่วยงานพื้นฐานหลักทางด้าน NQI (M, S, CAB) เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและครบถ้วน
– การสนับสนุนผู้ใช้บริการ (end users) เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการ ด้าน NQI ของประเทศ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล
• การสนับสนุนให้เกิดการ “ปรับเปลี่ยน” บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการให้บริการด้าน NQI ที่เข้มแข็ง
– ให้มาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยได้รับการรับรอง จากมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่า
– สนับสนุนการลงทุนด้าน NQI เพื่อสร้างบทบาทในเวทีโลก
– สร้างธุรกิจการให้บริการด้าน NQI สำหรับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
– ดึงดูดการลงทุนระบบ NQI จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐสามารถลดการใช้งบประมาณสนับสนุนได้
๓.๒ การส่งเสริมระบบ NQI ของประเทศ
๓.๒.๑ บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในระบบ NQI
• หน่วยงานกำหนดนโยบายด้านคุณภาพของประเทศ (NQP) ทำหน้าที่จัดทำแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยระบบ NQI รวมถึง การจัดทำคำขอและจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยงาน NQI เพื่อเพิ่มความสามารถที่เข้มแข็ง ครบถ้วน และเพียงพอให้กับการให้บริการทางด้าน NQI ของประเทศ
• หน่วยงาน NQI ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ Metrology, Standards, Testing and Quality (MSTQ) ภายใต้ขอบเขตรับผิดชอบของหน่วยงาน รวมทั้งรับผิดชอบดำเนินการมาตรการสนับสนุนภาคการผลิตและบริการให้สามารถเข้าถึงบริการด้านคุณภาพ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในราคาที่สามารถแข่งขันได้
• หน่วยงานจัดสรรงบประมาณ
– รัฐพึงจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการพัฒนาระบบ NQI ของประเทศ
– กองทุนต่างๆ ของรัฐ พึงจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบ NQI ในสาขาอุตสาหกรรมที่กองทุนนั้นรับผิดชอบ
๓.๒.๒ ขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐในระบบ NQI
ในระยะเริ่มต้น อาจดำเนินการในหน่วยงาน NQI พื้นฐาน ดังนี้
๑) ด้านมาตรวิทยา (M) มว. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการพัฒนาความสามารถทางการวัดให้เพียงพอและมีความแม่นยำ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลักของประเทศ รวมทั้งการสร้างผลงานทางวิชาการและบทบาททางวิชาการขั้นแนวหน้าด้านมาตรวิทยาที่เพียงพอ ต่อการเข้าสู่ระดับแนวหน้าของโลก
๒) ด้านมาตรฐาน (S) สมอ. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการบริหารจัดการการเข้าร่วมกระบวนการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยสามารถมอบหมายหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีศักยภาพในการเป็นผู้แทนเข้าร่วมการกำหนดมาตรฐานสำคัญระหว่างประเทศ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานของประเทศให้ได้รับการรับรองในระดับสากล
๓) ด้านการรับรองระบบงานและการตรวจสอบและรับรอง (AB/CAB) ให้ สมอ. มกอช. วพ. และ วศ. ร่วมรับผิดชอบ ในการขยายขอบข่ายการรับรองตามมาตรฐานสากล และสนับสนุนให้เกิดหน่วย CAB ที่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้มีบริษัทหรือหน่วยงาน CAB ของประเทศไทย
๔) หน่วยเครือข่าย/หน่วยงานร่วมที่สำคัญ เช่น หน่วยงานทาง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ในการวิจัย/วิชาการ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักด้าน NQI และเป็นผู้แทนหน่วยงานหลักในการเข้าร่วมภาคีนานาชาติ
๓.๒.๓ การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะ ความสามารถ กระบวนการ และทรัพยากร (Capacity building) ของหน่วยงานรัฐในระบบ NQI
• การสนับสนุนให้มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่เชี่ยวชาญ รวมถึงการเพิ่มอัตรากำลังที่สอดคล้องกับความต้องการ ของการบริการด้าน NQI ของประเทศ
• การสนับสนุนงบประมาณสำหรับห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ ที่สำคัญสำหรับ NQI พื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบ NQI ในการสนับสนุนความสามารถการแข่งขัน ของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ให้มีความเข้มแข็งในเวทีการค้าโลก
• การสนับสนุนการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) เพื่อสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐด้าน NQI อย่างยั่งยืน
• การสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอและสนับสนุนให้ เข้าร่วมเวทีนานาชาติ
๓.๓ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงการใช้บริการ NQI ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ภายใต้ต้นทุน ที่สามารถแข่งขันได้
• มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงบริการ NQI ของประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
• การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้เกิดหน่วยงาน Testing Lab ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
• การลดขั้นตอนการรับรองด้าน NQI ของประเทศ โดยเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงาน NQI ข้ามกระทรวงที่มีหน้าที่รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในรายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์นั้น
• การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและมาตรการที่สอดคล้องกับการพัฒนา การให้บริการ NQI ที่ได้รับการรับรองในระดับสากล
• การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้าน NQI จากภาคเอกชน เพื่อลดการลงทุนจากสำนักงบประมาณและกองทุนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการกระจายของการให้บริการ NQI ที่ครอบคลุมและได้รับการรับรองในระดับสากล
• การเพิ่มบริการด้านดิจิทัลสำหรับการบริการด้านธุรการ การเชื่อมโยงการใช้บริการ NQI ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศกลางเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน NQI ได้อย่างครบถ้วนในแหล่งเดียว
๓.๔ กลไกการดำเนินงาน ประกอบด้วย
• กลไกด้านงบประมาณ รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยให้บริการพื้นฐานหลักทางด้าน NQI เพื่อการสร้างความเข้มแข็ง ครบถ้วน เพียงพอ รวมถึงหน่วยงานจะต้องเข้าร่วมและมีบทบาทในระบบ NQI ระดับนานาชาติ และยกระดับการให้บริการ NQI สู่ระดับสากล และสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้ใช้บริการจากระบบ NQI ของประเทศ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการ NQI ซึ่งนำไปสู่การกำหนดการให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยการจัดสรรงบประมาณมาจาก ๓ ส่วน ได้แก่
๑) งบประมาณแผ่นดิน โดยให้จัดสรรเป็นงบอุดหนุนทั่วไปแบบ Multi-year
๒) กองทุนเฉพาะ เช่น กองทุนพลังงาน กองทุนน้ำมัน เป็นต้น
๓) กองทุนส่งเสริมทั่วไป เช่น กองทุน ววน. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น
• กลไกด้านนโยบาย ในระยะเริ่มต้นเสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
– จัดทำแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
– กำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานในระบบ NQI ให้เป็นไปในตามแผน
– มอบหมายกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบ NQI
– ออกแบบมาตรการ/แนวทางการส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงาน ในระบบ NQI เพื่อเสนอต่อ ครม.
นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ชี้แจงการดำเนินการ ตามมาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนี้
๑) ตามที่ รอว. ได้เห็นชอบให้ยกเลิก มาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้เสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณา ต่อมา ได้มีการประกาศยุบสภาและ ครม. ในการประชุม เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๖ มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ทำให้ต้องรอทิศทางและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ จึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
๒) วศ. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาการปรับรูปแบบหรือถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองทางวิทยาศาสตร์ให้มีรูปแบบที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดตั้งสถาบันภายใต้มูลนิธิ และการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชนหรือ ภาคประชาสังคม เป็นต้น
๓) วศ. กำลังดำเนินการปรับบทบาทในการเป็นหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของหน่วยตรวจสอบและรับรองของประเทศ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับการให้บริการทดสอบ สอบเทียบ และแพลตฟอร์มกลางสำหรับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะในระบบ NQI ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลและการบริการของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัด อว. และหน่วยงานในระบบ NQI ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เป็นกลไกกลางในการให้บริการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยตรวจสอบและรับรองของประเทศ และอยู่ระหว่างการศึกษาและยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เป็นกลไกหรือมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน ทั้งในเชิงนโยบายและกฎหมาย
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม
• ควรระบุอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ทางคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มเติมในด้านการประสานระหว่างหน่วยงาน เนื่องจากหน่วยงานในระบบ NQI นั้นมีจำนวนมากและสังกัดอยู่หลายกระทรวง
• ควรให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการประสานงานร่วมกับหน่วยงาน NQI เดิมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการด้าน NQI ในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสินค้าและบริการ ของท้องถิ่นให้ได้รับพัฒนาคุณภาพได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว
• ควรเพิ่มเติมกลไกการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพจากการอาศัยประโยชน์จากระบบคุณภาพ เช่น การป้องกันสินค้าปลอมแปลง การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของการรับรองคุณภาพ เป็นต้น
• ควรจัดลำดับความสำคัญ และจัดทำแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือโจทย์สำคัญของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพให้มีความพร้อมจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง
• ควรส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานเพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นที่พึงพอใจหรือตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมระบบ NQI ของประเทศ เช่น ระบบการบริการสุขภาพที่ใช้มาตรฐานการรับรองจากต่างประเทศ เป็นต้น
• ในการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Plan) ควรพิจารณา ขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นจุดแข็งของระบบ NQI เป็นอันดับแรก (Quick win) เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณ ที่มีไปยังหน่วยงาน NQI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานในแต่ละช่วงของการดำเนินการตามแผนฯ ให้ชัดเจน ต่อไป
• ควรคำนึงถึงการทับซ้อนของภารกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระบบ NQI และบทบาทของคณะกรรมการระดับชาติที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติและหรือ การขัดกันเชิงหลักการของกฎหมายด้านอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง กฎหมายอื่นด้าน NQI ที่หน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่ด้วย เช่น การจัดทำกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพและความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ โดย วศ. และการปรับปรุง พ.ร.บ. การมาตรฐานแห่งชาติ โดย สมอ. เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบกลไกที่จะช่วยในการจัดบทบาทของหน่วยงานและมีแนวทาง การส่งเสริมที่เป็นรูปธรรม เช่น พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่มีการใช้กลไกกองทุนส่งเสริม ววน. เป็นต้น
• ควรศึกษาข้อมูลด้านความต้องการการใช้บริการ NQI เพิ่มเติม เช่น ผู้ให้บริการ (Players) อยู่ในลักษณะตลาดแบบใด ผู้ใช้บริการ (Users) มีความต้องการใช้บริการระบบ NQI อะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะช่วยจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของการพัฒนาระบบ NQI ด้วย
• ควรจัดทำแนวทางการสร้างความเข้าใจต่อสำนักงบประมาณและรัฐสภา โดยเพิ่มบทบัญญัติ 2 ส่วนดังนี้
1) การจัดทำรายงานประจำปี หรือทุก 2 ปี โดยให้เป็นข้อมูลสถานะ การดำเนินงานของระบบ NQI ของประเทศทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
2) การจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเป็น Feedback Loop จากผู้ใช้บริการ NQI เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และควรผนวกข้อมูลส่วนนี้ในรายงานประจำปีด้วย
• ควรพิจารณาการให้บริการอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนคูปองให้กับผู้ใช้บริการ NQI เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงาน NQI ของภาคเอกชนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
• ควรพิจารณาการแยกประเด็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบ NQI ในปัจจุบันว่าส่วนไหนที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน และส่วนไหนที่ต้องการการแก้ไข หรือเพิ่มเติมบทบัญญัติทางกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และในระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริม ฯ นี้ สามารถนำไปรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อใช้ประกอบกับการเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อไป
• ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกฎหมาย สามารถกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมระบบ NQI เพื่อกำหนดให้โครงการที่สอดคล้องกับแผนดังกล่าวได้รับ การจัดสรรงบประมาณได้
• ควรพิจารณาชื่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ๕ ข้อ ที่กำหนดไว้ ได้แก่ ๑) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ๒) ความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม ๓) ความน่าเชื่อถือ
ของผลิตภัณฑ์ไทย ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ๔) การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งกัน และ ๕) ระบบที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของประเทศ
• ควรเพิ่มเติมประเด็น ดังต่อไปนี้ในหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.
๑) ปัจจุบันภาคผลิตและภาคบริการได้รับผลกระทบจาก Innovation Disruption ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบ NQI จะต้องมีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
๒) ควรเพิ่มเติมบทบาทของภาคเอกชนในระบบ NQI เพื่อลดภาระของภาครัฐ
• การมอบหมายให้หน่วยงานเอกชนดำเนินการในบางเรื่อง จะสามารถ ลดการใช้งบประมาณและบุคลากรจากภาครัฐได้ เช่น การพัฒนาอัตรากำลัง (Capacity Building) การใช้ผู้เชี่ยวชาญด้าน NQI ของภาคเอกชน เป็นต้น รวมทั้งการเข้าร่วม (Participate) กำหนดมาตรฐาน ในระดับนานาชาตินั้น หากสามารถมอบหมายให้ภาคเอกชนเข้าร่วม หรือการเข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์ จะช่วยให้ลดภาระด้านงบประมาณของประเทศได้
• หากมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อพิจารณาการจัดทำ พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณากฎหมายของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
• ผลการวิเคราะห์ในบางประเด็นยังไม่ใช่การหาสาเหตุที่เกิดขึ้นในระบบ NQI ของประเทศ เช่น การมีส่วนร่วม (Participate) ในการกำหนดมาตรฐานในปัจจุบันหน่วยงานหลักได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนได้
• ควรพิจารณาการแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการรับรองระบบงาน (Accreditation Body: AB) และตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment Body: CAB) ออกจากกัน เพื่อไม่ให้มีข้อขัดแย้งในการดำเนินการตามหลักสากล ซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่กับการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศได้ในลักษณะ Quick win โดยอาจพิจารณาบทบาทภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ในปัจจุบัน ทั้งส่วนงานของ AB ซึ่งเป็นบทบาทเชิง Regular และงาน CAB ซึ่งเป็นบทบาท Operator ว่าสามารถเปิดให้ภาคส่วนอื่น ทำหน้าที่เป็นหน่วย CAB แทนได้หรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานรัฐคงเหลือเฉพาะงาน AB
• ควรพิจารณาการสร้างระบบส่งเสริมระบบ NQI ภายใต้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วร่วมกับภาคเอกชนแทนการจัดทำ พ.ร.บ. โดยมุ่งเน้นการจัดระบบ NQI เป็นสำคัญ ทั้งนี้ อาจพิจารณา การดำเนินงานขององค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations: SDOs) ของ สมอ. อย่างไรก็ตาม การส่งเสริม AB และ CAB ยังไม่มีรูปแบบการส่งเสริมในกฎหมายใดอย่างชัดเจน ดังนั้น ควรพิจารณาการปฏิรูปของ พ.ร.บ. การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑ ร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย (Mandate) ในการส่งเสริม NQI ที่ชัดเจน และหาแนวทางส่งเสริมหน่วยงาน AB และ CAB
• การกำกับดูแลตลาด (Market Surveillance) เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา เสาหลักอื่นๆ ของระบบ NQI อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกลไกด้านการกำกับดูแลตลาดอย่างชัดเจน และมักมีการดำเนินการในเชิงรับเป็นส่วนใหญ่
มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ โดยให้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอ และเสนอเรื่องดังกล่าวตามกระบวนการ การเสนอร่างกฎหมายต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่ 4.1 สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สิงหาคม2562 - พฤษภาคม 2566)
นางสาวสิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อน การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่เคยนำเข้ามาหารือในที่ประชุม ทั้งในลักษณะของการเสวนาขอความเห็น และการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กฎหมาย กฎ ระเบียบแก้ไขข้อจำกัด/ส่งเสริมการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ประกอบด้วย 7 เรื่อง ดังนี้
1.1 การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย
คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง เห็นชอบแนวปฏิบัติส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ขณะนี้ สอวช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแนวปฏิบัติดังกล่าว และจะจัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัย
1.2 ร่างระเบียบร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบฯ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบ ร่างกฎหมายและอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) (คณะที่ 2) ตรวจพิจารณา
1.3 พ.ร.บ. ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2564
พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ปัจจุบันสภานโยบาย และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้จัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติจำนวน ๑๔ ฉบับ เรียบร้อยแล้ว และ กสว. ได้จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุน การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
1.4 การจัดตั้ง Higher Education Sandbox
สภานโยบายออกข้อกำหนด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทาง สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในการเสนอขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องขึ้นเพื่อ ในขณะนี้มีหลักสูตรเข้าสู่ Higher Education Sandbox แล้ว จำนวน 6 หลักสูตร
1.5 การจัดทำหลักเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม
กระทรวง อว. ออกประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน- อุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาด้านนวัตกรรม
ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงคู่มือเสนอขอกำหนดดำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม เพื่อเผยแพร่ไปยังสถาบันอุดมศึกษา ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณา ตำแหน่ง ทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ด้านนวัตกรรม เพื่อเตรียมการพิจารณาหากมีผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
1.6 การจัดตั้ง Innovation Sandbox
สภานโยบายในการประชุม ครั้งที่ 3/62 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบหลักการ ส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) โดย สอวช. ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานโครงการ Innovation Sandbox ในขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกลุ่มบริษัทเอกชน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Innovation Sandbox
1.7 การแก้ไขข้อจำกัดการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม
สภานโยบายในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์ การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ และ สอวช. ได้เสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ แล้ว โดยได้มีการพิจารณาทั้งหมด 2 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อแก้ไขร่างตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการต่อไป
2. ระบบบริหารจัดการด้าน อววน. ประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้
2.1 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา
ครม. ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 และการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัตินี้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และนำไปรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะต้องนำเสนอต่อ ครม. และรัฐสภา ต่อไป
2.2 แนวทางการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอแนวการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ขณะนี้ สกสว. สอวช. และ สงป. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.3 การเชื่อมโยงข้อมูลอุดมศึกษา และวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สอวช. ร่วมกับ วช. สกสว. และ สป.อว. จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาและบูรณาการข้อมูล อววน. โดยได้รับความเห็นชอบจาก กสว. แล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่าง การเสนอต่อ คณะอนุกรรมการด้านฐานข้อมูลอุดมศึกษา และ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการกำกับนโยบายข้อมูลการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไป
ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงคู่มือเสนอขอกำหนดดำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม เพื่อเผยแพร่ไปยังสถาบันอุดมศึกษา ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณา ตำแหน่ง ทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ด้านนวัตกรรม เพื่อเตรียมการพิจารณาหากมีผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
1.6 การจัดตั้ง Innovation Sandbox
สภานโยบายในการประชุม ครั้งที่ 3/62 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบหลักการ ส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) โดย สอวช. ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานโครงการ Innovation Sandbox ในขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกลุ่มบริษัทเอกชน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Innovation Sandbox
1.7 การแก้ไขข้อจำกัดการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม
สภานโยบายในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์ การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ และ สอวช. ได้เสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ แล้ว โดยได้มีการพิจารณาทั้งหมด 2 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อแก้ไขร่างตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการต่อไป
2. ระบบบริหารจัดการด้าน อววน. ประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้
2.1 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา
ครม. ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 และการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัตินี้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และนำไปรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะต้องนำเสนอต่อ ครม. และรัฐสภา ต่อไป
2.2 แนวทางการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอแนวการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ขณะนี้ สกสว. สอวช. และ สงป. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.3 การเชื่อมโยงข้อมูลอุดมศึกษา และวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สอวช. ร่วมกับ วช. สกสว. และ สป.อว. จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาและบูรณาการข้อมูล อววน. โดยได้รับความเห็นชอบจาก กสว. แล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่าง การเสนอต่อ คณะอนุกรรมการด้านฐานข้อมูลอุดมศึกษา และ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการกำกับนโยบายข้อมูลการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไป
2.4 การออกแบบระบบบริหารจัดการทุน ววน.
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในการออกแบบระบบบริหารจัดการทุน ววน. จำนวน 5 ครั้ง โดยได้มีการพิจารณาแนวทางการออกแบบระบบหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ปัจจุบัน สกสว. และ สอวช. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการมอบหมายภารกิจให้ PMU สามารถดูแลการส่งมอบผลลัพธ์ตลอดห่วงโซ่ (Vertical PMU) เพื่อเสนอต่อ กสว.
3. ระบบหน่วยงานด้าน อววน.
3.1 การจัดตั้งสำนักงานสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (รวพ.) (องค์การมหาชน)
สภานโยบายในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีมติเห็นชอบการแยกหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU ABC) ออกจาก สอวช. มาเป็นองค์การมหาชนใหม่ และ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง รวพ. รวมถึง ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง รวพ. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ. การจัดตั้งก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3.2 สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.)
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบผลการประเมิน วช. โดยเห็นควรให้แปลงสภาพ วช. เป็นองค์การมหาชน และให้เสนอผลการประเมินต่อ รมว.อว. เพื่อเสนอต่อ ครม. ต่อไป จากนั้น ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 มีมติรับทราบให้คงสถานะ วช. เป็นส่วนราชการต่อไปตามที่กระทรวง อว. เสนอ
3.3 โครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวง อว.
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564
3.4 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องบทบาทของ วศ. ในระบบ NQI แล้วจำนวน 4 ครั้ง โดยมีมติให้ วศ. ดำเนินการตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ และ วศ. อยู่ระหว่างการเสนอ ครม. เพื่อขอยกเลิกมาตรา 38 ที่กำหนดเงื่อนไขเวลาและรูปแบบหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีระยะเวลาและกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการปฏิรูประบบ NQI ของประเทศ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม
• ควรจัดทำสรุปการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสนอต่อ ครม. และคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญของแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน
• ควรทบทวนการดำเนินการส่งต่อนโยบายต่างๆ ว่ามีกลยุทธ์หรือปัจจัยใดบ้าง ที่ก่อให้เกิดและไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เช่น การขาดความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน การมีนโยบายที่ทับซ้อนกัน เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดทำในรูปแบบที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่ดำเนินการต่อ เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป
มติที่ประชุม รับทราบสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ประธานกรรมการ กล่าวปิดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ และแจ้งว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม ครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการ ซึ่งมีวาระ ๔ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ใช้บังคับ (วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒) และขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ต่อการดำเนินงาน รวมถึงฝ่ายเลขานุการฯ ที่ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ
มติที่ประชุม รับทราบ