ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565

13:30 น.
11 เมษายน 2565
ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทําเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันที่ : 11 เมษายน 2565
เวลา : 13:30 น.
ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทําเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • ใบนำวาระสภานโยบาย 1/2565
  • สไลด์สภานโยบาย 1/2565
  • รายงานการประชุมสภานโยบาย 1/2565

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานและฝ่ายเลขานุการแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2564
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง
3.1 การพิจารณาการให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐาน การอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา
4.1 ข้อเสนอการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ ประเทศ

4.2 ข้อเสนอการขยายระยะเวลา และปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลสําหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 300%

4.3 โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาดาวเทียมวิจัยและสํารวจ ดวงจันทร์โดยคนไทยเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของชาติ

4.4 ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วย จริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ....

4.5 (ร่าง) กฎหมายลําดับรองของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2564

4.6 การแก้ไขระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะ ต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตําแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562

4.7 การแต่งตั้งกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับ พื้นที่ (บพท.)
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อทราบ
5.1 มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความ รับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

5.2 (ร่าง) รายงานสถานการณ์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564

5.3 ความก้าวหน้าการเสนอแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคน ของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

5.4 แผนการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2564-2565

5.5 รายงานประจําปีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2564
ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่น ๆ

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 – 15.30 น. ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงานการประชุม และแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ประธานสภานโยบายขอแก้ไขรายงานการประชุม ดังนี้

ระเบียบวาระที่ 3.1.1 กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

1. หน้า 10 ขอแก้ไขเป็นความว่า

“กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.): ให้เงินกู้ยืมแก่ผู้เรียนแบบบูรณาการและสอดรับกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ตามสัญญาณความต้องการกำลังคนในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ”

2. ข้อคิดเห็นข้อ 1 ขอแก้ไขเป็นความว่า

“ประธานมีข้อสังเกตว่า การให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อตามความต้องการของตนเองทั้งหมดอาจเกิด
ผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานในสาขาที่ตลาดมีความต้องการ ทำให้ต้องจ้างแรงงานจากต่างประเทศ และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานยาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) สนใจแต่การเรียนในสาขาที่เรียนง่ายและจบเร็ว การกำหนดความต้องการโดยอิงจากตลาดแรงงานและสาขาที่ผู้เรียนสนใจเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริงและไม่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงควรกำหนดสัดส่วน Demand-side Financing ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับกำลังคนในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ และกำหนดพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย”

เรื่องเดิม

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่
2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบ

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อนำไปจัดทำประกาศสภานโยบาย

2. แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภานโยบาย ตามรายชื่อที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ

3. มอบหมาย สอวช. นำเรื่องตามข้อ 1. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้สภานโยบายพิจารณาการให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกที่สภานโยบายกำหนด 

การดำเนินงาน

สอวช. ได้ดำเนินการตามมติสภานโยบายเรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

2. คำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ 3/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ลงวันที่ 27 กันยายน 2564

3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

    3.1 เห็นชอบในหลักการตามที่สภานโยบายเสนอ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาในเรื่องที่เป็นเชิงนโยบาย มีความสำคัญสูง มีผลกระทบกับระบบอุดมศึกษาในภาพรวม หรือก่อให้เกิดภาระงบประมาณในระยะยาว ให้สภานโยบายนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบเป็นกรณี ๆ ไป ก่อนดำเนินการต่อไป

    3.2 ให้สภานโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

    3.3 ให้กระทรวงศึกษาธิการรับเรื่องนี้ไปพิจารณาและหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงการจัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการให้เหมาะสมและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

เรื่องเดิม

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกพิจารณาว่าเป็นตัวขับสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว เนื่องด้วยต้นทุนทรัพยากรสร้างสรรค์ภายในประเทศที่มีความหลากหลายโดดเด่น นำมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์
ต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมเพื่อส่งมอบคุณค่าในรูปของสินค้าและบริการให้กับผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นานาประเทศจึงใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

จากต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม ประเทศไทยจึงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีคุณภาพและมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี และกลายเป็นเป้าหมายเพื่อมาเรียนรู้และท่องเที่ยวของนักเดินทางจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนโครงสร้างประชากร จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องเผชิญกับความท้าทายกับการคว้าโอกาสใหม่ที่เปิดรับในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการอนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากเง้าของประเทศไม่ให้สูญหาย

สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาต่อยอดสินค้าและบริการของภาคอุตสาหกรรมและชุมให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

การดำเนินงาน

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถอนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งต่อยอดต้นทุนทรัพยากรสร้างสรรค์ที่หลากหลายเพื่อนำมาขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

เรื่องเดิม

แนวโน้มในการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับภาคเอกชนโดยตรงในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมมีความชัดเจนมากขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่มีการออกระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชน พร้อมกันนี้ การพัฒนาหรือปรับปรุงมาตรการด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาควบคู่กัน จึงจะนำไปสู่การได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน

หนึ่งในมาตรการทางภาษีที่ได้ดำเนินการ และสามารถส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี คือ มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 300% (มาตรการลดหย่อนภาษี 300%) ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ได้จ่ายไปจริง ซึ่งโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม และการคำนวณรายจ่ายของโครงการดังกล่าว ต้องได้รับการตรวจประเมินและรับรองความเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. ในการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิยกเว้นภาษี

อย่างไรก็ตาม มาตรการลดหย่อนภาษี 300% ดังกล่าวได้สิ้นสุดไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 และทั้งนี้ สวทช. ได้จัดทำหนังสือ (ลงวันที่ 21 เมษายน 2564) ขอให้ทางกรมสรรพากรพิจารณาทบทวนและขยายเวลาของมาตรการดังกล่าวออกไป แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

การดำเนินงาน

สกสว. รวบรวมความเห็นจากภาคเอกชนและขอข้อมูลจาก สวทช. ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของมาตรการดังกล่าว พบว่าผลการดำเนินการมาตรการระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2545-2564 อยู่ในระดับที่ดี สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีความสนใจการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้มาตรการภาษี 300% ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของภาคเอกชนและของประเทศ สกสว. จึงได้เสนอขยายระยะเวลาดำเนินการ และปรับปรุงมาตรการข้างต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 1/2565 ณ วันที่ 21 มกราคม 2565 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และให้เสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

เรื่องเดิม

ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการและแผนดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียม
TSC-1 (ดาวเทียมสำหรับสำรวจและวิจัยใกล้ผิวโลก) และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียม TSC-2 (ดาวเทียมสำหรับสำรวจและวิจัยจากวงโคจรรอบดวงจันทร์) ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 แล้วนั้น บัดนี้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทยได้ดำเนินการจัดทำแผนดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียม TSC-2 แล้วเสร็จ เป็นข้อเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในวาระนี้ เพื่อขอความเห็นชอบในแผนดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียม TSC-2 และดำเนินการส่งดาวเทียมดังกล่าวไปวิจัยสำรวจดวงจันทร์

การสร้างดาวเทียมเองในประเทศเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของชาติด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีตัวเทียบวัดกับชาติอื่น ๆ ชัดเจนในรูปของดาวเทียมและอวกาศยานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นโดยลำดับ ผลักดันให้เกิดการสร้างกำลังคนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน สร้างงานวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศ การลงทุนด้านอวกาศในประเทศของภาครัฐจะเหนี่ยวนำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ในประเทศ เป็นการบ่มเพาะระบบนิเวศเทคโนโลยีอวกาศไทย ที่เมื่อเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มพลอยได้ (spin-off value) เป็นผลกระทบกว้างขวางสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น สนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป้าประสงค์ด้านผลกระทบสูงสุดของโครงการนี้ คือ การยกระดับระบบนิเวศเทคโนโลยีอวกาศไทยให้มีศักยภาพในการต่อเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มการผลิตระหว่างประเทศ (global value chain) ในระยะเวลา 20 ปีของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะ พ.ศ. 2580

เรื่องเดิม

พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 33 กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยความเห็นชอบของสภานโยบายกำหนด

(1) จริยธรรมการวิจัยทั่วไป

(2) หลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

จริยธรรมการวิจัยทั่วไปตาม (1) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยตาม (2) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

การดำเนินงาน

1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน พ.ศ. …. เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)

2. ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. …. และมีข้อเสนอแนะให้ วช. ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการ และครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. …. และข้อให้ วช. พิจารณาปรับแก้ไขร่างระเบียบตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
3. คณะกรรมการที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิพิจารณาร่างกฎหมายลูกบทภายใต้กฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศาสตราจารย์กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ) ได้พิจารณาตรวจร่างและมีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกําหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน พ.ศ. …. เพื่อนำเสนอสภานโยบายต่อไป

เรื่องเดิม

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผลักดัน พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือสาธารณประโยชน์ โดยได้ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา และภายใต้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ต้องมีการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่กำหนดไว้ในมาตราต่าง ๆ จำนวน 15 ฉบับ เพื่อให้การดำเนินการหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เป็นไปอย่างราบรื่น

การดำเนินงาน

สกสว. สอวช. และทีมผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองทั้ง 15 ฉบับ โดยจะนำเสนอในการพิจารณาร่วมกันของอนุกรรมการด้านกฎหมายของ สกสว. และผู้ทรงคุณวุฒิจากอนุกรรมการด้านกฎหมายของ สอวช.

เรื่องเดิม

ตามข้อ 8 แห่งระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ได้ระบุว่า “นอกจากการพ้นวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ้นจากตำแหน่งด้วยกรณีอื่น ๆ ตามข้อ 8 (1) – (5)” ซึ่งยังไม่ได้ระบุถึงในกรณีที่กรรมการผู้แทนหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของ กสว. ตามมาตรา 40 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาเข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งของ กสว. ตามมาตรา 40 (2) แห่ง พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้แทนหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมใน กสว.

นอกจากนี้ ข้อ 17 แห่งระเบียบสภานโยบายฯ ดังกล่าว ได้ระบุถึง “กรณีกรรมการผู้แทนหน่วยงานและกรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ สกสว. เสนอรัฐมนตรีพิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการผู้แทนหน่วยงานและกรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาจากบัญชีรายชื่อสำรอง เพื่อเสนอสภานโยบายพิจารณาแต่งตั้ง โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้แทนหน่วยงานและกรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาซึ่งตนแทน” ซึ่งยังไม่ได้ระบุระยะเวลาของบัญชีรายชื่อสำรองของกรรมการผู้แทนหน่วยงานและกรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา

การดำเนินงาน

          เพื่อให้การดำเนินการตามระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัดกุม

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กสว. จึงขอเสนอให้เพิ่มข้อความในระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. ให้เพิ่ม (6) ของข้อ 8 แห่งระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 โดยมีข้อความต่อไปนี้

“(6) กรณีที่กรรมการผู้แทนหน่วยงาน และกรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา เข้ามารับตำแหน่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในมาตรา 40 (2) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562”

2. ให้เพิ่มวรรคสองของข้อ 17 แห่งระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562” โดยมีข้อความต่อไปนี้

“บัญชีรายชื่อสำรองตามวรรคหนึ่งให้มีระยะเวลาสองปี ในกรณีที่กรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระภายหลังสองปี ให้ดำเนินการตามข้อ 15 (3) (4) และ (5)”

เรื่องเดิม

1. ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่
5/2562 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยแต่งตั้ง นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

2. ต่อมานายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

3. ข้อบังคับคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหน่วยบริหารและจัดการทุน พ.ศ. 2562 ข้อ 10 (3) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง
สภานโยบายแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และข้อ 11 วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ 10 (3) ให้เป็นไปตามที่ กอวช. ประกาศกำหนด

4. ประกาศคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นตำแหน่งของประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน พ.ศ. 2562 ข้อ 3 กำหนดให้ สอวช. โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความรู้และความสามารถเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนต่อสภานโยบาย เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
และข้อ 5 วรรคสามในกรณีที่ประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
ให้คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ในกรณีนี้ สภานโยบายอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งแทนก็ได้

การดำเนินงาน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอสภานโยบายพิจารณาแต่งตั้งให้ นางสาวรมิดา พัชราวนิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

เรื่องเดิม

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่
4/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณากรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยได้มีมติ ดังนี้

1) เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 114,634.7682 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ขอให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

2) เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว โดยมีระบบการจัดสรรแบบ Block grant และ Multi-year budgeting เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ขอให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

การดำเนินงาน

สอวช. ได้เสนอกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 114,634.7682 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายเสนอ และให้สภานโยบาย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศ ดังนี้

1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรเร่งสร้างความเข้าใจและพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์ความต้องการกำลังคน และระบบการจัดทำข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณสำหรับการอุดมศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งควรเร่งยกระดับขีดความสามารถในการวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการผ่านด้านอุปสงค์เป็นหลัก (Demand-Direct Budgeting) ในแต่ละระยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรพิจารณาถึงข้อจำกัดทางด้านการคลังของประเทศในระยะต่อไป และควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น

2) ในการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อการจัดสรรงบประมาณตามมาตรา 45 (3) ของ พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ 2562 ควรกำหนดเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์ และรูปแบบการดำเนินงานที่ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณให้มีความชัดเจน รวมทั้งควรมีการพัฒนากลไกกำกับติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ

3) ควรพิจารณาดำเนินการให้กรอบวงเงินด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความสอดคล้องกับ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการพึ่งพาตนเองได้ในภาวะที่ประเทศประสบภัยพิบัติ และควรมีการจัดทำแนวทางการพัฒนา (Roadmap) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า (Frontier) เพื่อสร้างความชัดเจนในการส่งเสริมภาคเอกชนในการร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเพิ่มขึ้น และมูลค่าการลงทุนวิจัย และพัฒนานวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภายในปี 2570 ต่อไป

เรื่องเดิม

สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 44 (2) ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีอำนาจหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมในด้านการวิจัยและนวัตกรรมในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อนำเสนอต่อสภานโยบายในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน รวมทั้งงบประมาณเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม โดยการศึกษาวิเคราะห์ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีจุดประสงค์ให้การดำเนินงานของ สกสว. ครบถ้วนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภานโยบาย และบรรลุเป้าหมายในการสนับสนุนการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินภารกิจดังกล่าว สกสว. ได้ประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์ ววน. พ.ศ. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
(1) ภาพรวมสถานการณ์ อันประกอบด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบดัชนีนานาชาติกับประเทศไทย สถานการณ์โลกและแนวโน้มที่มีผลต่อการขับเคลื่อน ววน. ในไทย รวมถึงความต้องการด้าน ววน. ในแต่ละด้าน (2) ความก้าวหน้าและประเด็นสำคัญในการพัฒนาของ ววน. ของไทยในปัจจุบัน รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนในปี พ.ศ. 2563-2564 (3) องค์ประกอบสำคัญของระบบ ววน. กรอบแนวคิดระบบนิเวศด้าน ววน. (SRI Ecosystems) ของประเทศไทย และการพัฒนาระบบหนุนเสริมที่เกี่ยวข้อง (4) ประเด็นมุ่งเน้นสำคัญด้าน ววน. ในอนาคต พร้อมข้อเสนอแนะรายประเด็นมุ่งเน้น และ (5) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบ ววน. ในภาพรวม โดยจัดทำเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ฉบับเสนอต่อสภานโยบาย
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ กสว. และ 2) ฉบับประชาชน เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อหน่วยงานในระบบ ววน. และประชาคมวิจัยต่อไป  

การดำเนินงาน

สกสว. จัดทำ (ร่าง) รายงานสถานการณ์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565 และให้เสนอต่อสภานโยบายฯ ต่อไป

เรื่องเดิม

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 พิจารณาเรื่อง (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 โดยได้มีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 โดยให้นำความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุง

2. มอบหมายให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 เพื่อจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

3. มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรรม นำเสนอ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ที่ปรับปรุงแล้วต่อคณะรัฐมนตรี

ต่อมา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 พิจารณาเรื่อง แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 และ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยได้มีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 โดยให้ สป.อว. นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. เห็นชอบ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยให้ สกสว. นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

การดำเนินงาน

1. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของสภานโยบาย และเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

2. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุม เมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2564 ได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566-2570  และ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี พ.ศ. 2566-2570

3. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนเมษายน

เรื่องเดิม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2564-2565  และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ในการประชุมครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 มีมติรับทราบแผนดังกล่าว

เรื่องเดิม

พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 44 (14) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีของ กสว. และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสภานโยบาย

การดำเนินงาน

สกสว. ได้จัดทำ (ร่าง) รายงานประจำปีของ กสว. และกองทุนส่งเสริม ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอต่อ กสว. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ซึ่ง กสว. มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสภานโยบายได้