ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2566

13:00 น.
28 กุมภาพันธ์ 2566
ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2566
เวลา : 13:00 น.
ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สอวช.

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • เอกสารประกอบการประชุมครั้งที่ 1/2566

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 การเชิญบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ครั้งที่ 1/2566 ในฐานะกรรมการ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
2.1 รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 สรุปผลความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องสืบเนื่อง
4.1 การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4.2 การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ สถาบันนวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2566

ความเป็นมา

ตามคำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่ 3/2564 เรื่อง แต่งตั้ง
คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กำหนดว่าในกรณีที่จำเป็น คณะกรรมการ
อาจเชิญบุคคลในบัญชีรายชื่อที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ให้
เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่
ได้รับเชิญนั้น และได้กำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุม
คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องในฐานะกรรมการ จำนวน 24 ท่าน

การดำเนินงาน

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565
เห็นชอบให้ประธานกรรมการพิจารณารายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ เพื่อเชิญเข้าร่วม
ประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ในฐานะกรรมการเป็นรายครั้ง

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ในคราวประชุมครั้งที่1/2566 จึงเห็นควรให้เชิญบุคคลซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระการประชุม จำนวน 4
ท่าน ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเข้าร่วมประชุม ดังนี้

1. ศาสตราจารย์กิตติชัย วัฒนานิกร
2. ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิติพงษ์ ยอดมงคล
4. นายสุพจน์ เธียรวุฒิ

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 1/2565
เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 8.00 – 10.00 น. ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงานการประชุม
และแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีกรรมการขอแก้ไขเพิ่มเติม

ความเป็นมา

ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดรับข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามประกาศของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเรื่อง การเปิดรับข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษายื่นข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการมายังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวนทั้งสิ้น 162 ข้อเสนอ

คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ได้เริ่มพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการ ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 21 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา โดยความก้าวหน้าการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา มีรายละเอียด ดังนี้

ข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการที่คณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบ และอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จำนวน 9 ข้อเสนอ

  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษา และคณะทำงานฯ เห็นควรให้เสนอต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อขออนุมัติจัดการศึกษา จำนวน 2 ข้อเสนอ ได้แก่
  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ สถาบันนวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา อนุมัติจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา จำนวน 4 ข้อเสนอ ได้แก่

  • ข้อเสนอการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์
  • ข้อเสนอการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล
  • ข้อเสนอการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur (Harbour.Space)
  • ข้อเสนอการผลิตกำลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม

ความเป็นมา

ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำส่งข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล มาที่กระทรวง อว. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการดังกล่าว พร้อมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ฉบับสมบูรณ์

การดำเนินงาน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลแล้วเสร็จ และผ่านการเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 869 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 จากนั้นได้นำส่งให้คณะทำงานฯ พิจารณากลั่นกรองในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะ เรื่อง ด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา
เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวแล้ว พบว่ามีความครบถ้วนตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักสูตร: หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

สถาบันอุดมศึกษา และคณะผู้รับผิดชอบ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ประเภทกำลังคน: วิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

จุดเด่นของหลักสูตร:

  1. นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการฝึกงานหรือทำสหกิจศึกษาสม่ำเสมอทุกปี โดยนิสิตจะได้รับการพัฒนาทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพภายใน 2 ภาคการศึกษา จากนั้นฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ต่อทันทีในภาคฤดูร้อน เพื่อใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนมา แล้วจึงกลับมาเรียนเพื่อพัฒนาทักษะขั้นที่สูงขึ้นในปีการศึกษาถัดไป และออกไปฝึกประสบการณ์อีกครั้งในภาคฤดูร้อนถัดไป
  2. เมื่อนิสิตสอบผ่านในแต่ละภาคการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรประจำภาคการศึกษาซึ่งประกอบด้วยหลายประกาศนียบัตรตามทักษะที่ได้เรียนรู้ ในลักษณะของ Microcredentials
  3. นิสิตฝึกสมรรถนะทักษะ (Hard skills) และจรณทักษะ (Soft skills) ผ่านการฝึกงาน/ฝึกประสบการณ์ หรือทำสหกิจศึกษาทุกปี โดยในการฝึกงานหรือสหกิจศึกษาจะกำหนดให้สถานประกอบการพัฒนาและประเมินจรณทักษะ (Soft skills) ตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรฯ นอกจากนี้หลักสูตรรับผลป้อนกลับจากสถานประกอบการเพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรในภาคการศึกษาถัดไปได้ทันต่อบริบทของโลก
  4. การเรียนการสอนมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยจะมีทั้งการบรรยายผ่านวิดีโอคลิปทำให้สามารถขยายขนาดห้องเรียนจึงสร้างบัณฑิตได้จำนวนมากขึ้น และมีชั่วโมงกิจกรรมและให้คำปรึกษาในลักษณะของ Flipped classroom รวมทั้งมีการฝึกปฏิบัติและการทำโครงงานเป็นทีมในทุกภาคการศึกษา เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสฝึกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างครบถ้วน
  5. ในทุกภาคการศึกษา นิสิตจะได้พัฒนาโครงงานโดยใช้โจทย์จากภาคอุตสาหกรรม และนำเสนอผลการพัฒนาโครงงานต่อภาคอุตสาหกรรม

ข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการขอยกเว้น: เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 โดยขอยกเว้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • ข้อ 7 การคิดหน่วยกิต โดยขอวัดผลจากสมรรถนะของผู้เรียนโดยตรงแทนการประเมินด้วยระยะเวลาการเรียน (Time-based) เนื่องจากการเรียนการสอนจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนและการวัดผลจากสมรรถนะของผู้เรียน ดังนั้นเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอน บางรายวิชาอาจขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้เรียนและเนื้อหารายวิชา และไม่สามารถระบุจำนวนชั่วโมงต่อหน่วยกิตได้โดยตรง
  • ข้อ 9 โครงสร้างหลักสูตร ในข้อ 9.1 หมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยขอลดหน่วยกิตรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเหลือเพียง 12 หน่วยกิต และจะใช้วิชาฝึกงานและสหกิจศึกษารวม 4 ภาคการศึกษา ทดแทนการเรียนวิชาศึกษาทั่วไป
  • ข้อ 10 คุณวุฒิ คุณสมบัติ และจำนวนอาจารย์ ในข้อ 10.1.2 อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรโดยขอใช้อาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรอื่น ๆ ในภาควิชาฯ และข้อ 10.1.3 คุณวุฒิของอาจารย์ผู้สอน ขอใช้อาจารย์พิเศษจากภาคอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ทำงานจริงมาช่วยสอน โดยไม่นำเกณฑ์ด้านคุณวุฒิและจำนวนปีของประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่สอนของอาจารย์ผู้สอนมาพิจารณา และอาจมีอาจารย์ประจำเป็นผู้รับผิดชอบรายวิชาหรือไม่ก็ได้

ระยะเวลาดำเนินการ:

ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 7 ปี (สิงหาคม 2566 – ธันวาคม 2572) ผลิตบัณฑิต 4 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3.5 ปี/รุ่น

ระยะเวลาของการประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษา 6 เดือน – 1 ปี

จำนวนกำลังคนที่จะผลิต: 1,200 คน (300 คน/รุ่น จำนวน 4 รุ่น)

ความเป็นมา

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกได้นำส่งข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการมาที่กระทรวง อว. และคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาเชิงหลักการดังกล่าว พร้อมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาฉบับสมบูรณ์

การดำเนินงาน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกได้จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ และได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกในการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 จากนั้นได้นำส่งให้คณะทำงานฯ พิจารณากลั่นกรอง โดยในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 คณะทำงานฯ เห็นสมควรให้นำเสนอข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ
การบินนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก พบว่ามีความครบถ้วนตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักสูตร: หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ

ผู้รับผิดชอบ: สถาบันนวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ประเภทกำลังคน: พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendant)

จุดเด่นของหลักสูตร:

  1. จัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิต (Co-creation) อย่างเข้มข้น โดยสถานประกอบการ (บริษัท ไทยแอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์จำกัด) ร่วมออกแบบหลักสูตร คัดเลือกผู้เข้าศึกษา จัดการเรียนการสอนโดยมีผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงานด้านอุตสาหกรรมการบิน และร่วมประเมินผล
  2. หลักสูตรแบบโมดูลได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ซึ่งผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร มาตรฐานสากลจากองค์กรการบินนานาชาติ ICAO/IATA และสามารถเข้าทำงานในสายการบินได้ทันที
  3. การันตีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรได้รับสิทธิ์เข้าทำงานทุกคน
  4. เปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3-4 จากหลักสูตรอื่นสามารถเข้าศึกษาได้ และได้รับปริญญาใบที่สอง (Double Degree) ทั้งนี้หลักสูตรเปิดรับผู้เข้าศึกษาต่อแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า (2) นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3-4 จากหลักสูตรอื่น และ (3) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา

ข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการขอยกเว้น:

  • มาตรฐานหลักสูตร ป.ตรี พ.ศ. 2565 อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ขอยกเว้นให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสามารถรับผิดชอบหลักสูตรได้เกินกว่า 1 หลักสูตรในเวลาเดียวกัน แต่ไม่เกิน 2 หลักสูตร โดยขอยกเว้นจากจำนวน 2 ใน 5 คน
  • มาตรฐานหลักสูตร ป.ตรี พ.ศ. 2565 ข้อ 10.2.2 อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพหรือปฏิบัติการ ขอยกเว้นให้จำนวนอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 3 ใน 5 คน มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติหรือเป็นบุคลากรของสถานประกอบการคู่ความร่วมมือ

ระยะเวลาดำเนินการ:

ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรกฎาคม 2566- ตุลาคม 2570

การประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษาไม่เกิน 1 ปี หลังบัณฑิตจบการศึกษา

จำนวนกำลังคนที่จะผลิต: ระดับปริญญาตรี จำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 100 คน รวม 300 คน