ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563

13:00 น.
17 กันยายน 2563
ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ : 17 กันยายน 2563
เวลา : 13:00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • ใบนำวาระสภานโยบาย 2/2563
  • สไลด์สภานโยบาย 2/2563
  • รายงานการประชุมสภานโยบาย 2/2563

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม โดยกลไก Holding Company

3.2 ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อ การให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา

3.3 ร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ ประโยชน์ พ.ศ. ....

3.4 การแต่งตั้งที่ปรึกษาของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ

3.5 การส่งเสริมงานวิจัย “ทวารวดี-สุวรรณภูมิ-ศรีวิชัย” เพื่อสร้างคุณค่าทาง ศิลปวัฒนธรรม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อทราบ
4.1 ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

4.2 รายงานประจำปี 2562 ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 09.00 – 10.00 น. ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงานการประชุม และแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีการปรับหรือขอแก้ไขจากกรรมการ

เรื่องเดิม
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีนโยบายส่งเสริมการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมโดยการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อีกทั้งมหาวิทยาลัยผู้สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะได้รับรายได้กลับคืนมาเข้าสู่หน่วยงานสำหรับสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้ต่อไป รวมถึงนักวิจัยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น
การร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company เป็นรูปแบบที่หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนำมาใช้เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง เนื่องจากการจัดตั้งและการดำเนินงานของ Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยโดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย และมีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างให้เกิดแรงจูงใจแก่นักวิจัยให้เห็นถึงช่องทางในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลงานวิจัยที่คิดค้นทำให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศได้
การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมได้มีนโยบายและกฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้อำนาจสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนผู้ประกอบการนำความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ และให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 28 กำหนดว่า สถาบันอุดมศึกษาพึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน นำความรู้ ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
2. พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 39 กำหนดว่าเพื่อส่งเสริมให้มีการ นำผลการวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ สถาบันอุดมศึกษาอาจจัดตั้งนิติบุคคลหรือร่วมลงทุนกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการวิจัยและนวัตกรรม ของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ได้
3. พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 31 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานของรัฐ อาจร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบของสภานโยบาย โดยมิให้นำกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาใช้บังคับแก่การร่วมลงทุน และให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระเบียบว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการกิจกรรมการร่วมลงทุน รวมถึงขั้นตอนการร่วมลงทุนในรูปแบบ Holding Company ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่จำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงอำนาจหน้าที่ และการบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้อย่างคล่องตัว ผู้บริหารหน่วยงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผล ให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผล และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้

การดำเนินงาน
1. สอวช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบ Holding Company และได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ยังคงมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการตีความกฎหมาย และหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงาน สอวช. จึงได้จัดทำหลักการของชุดมาตรการส่งเสริม การร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding Company ขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) การความเข้าใจประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะอนุมัติให้นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นดำเนินการธุรกิจนวัตกรรมได้หรือไม่นั้น ได้แก่ การตีความ ทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของนิติบุคคลที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ที่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐด้วยหรือไม่ อาทิ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน เป็นต้น
2) การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนได้จริง โดยสร้างความชัดเจนในประเด็นกฎหมายและสร้างความเข้าใจกับสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของนิติบุคคลที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนเพื่อ สร้างนวัตกรรมร่วมกัน หรือนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ ในทุกรูปแบบ
3) การอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินธุรกิจนวัตกรรม (Ease of Doing Innovation Business) ของมหาวิทยาลัย เช่น การอำนวยความสะดวกด้านบุคลากร ด้านการเงิน ด้านมาตรฐาน และการเชื่อมโยงความต้องการของตลาดสินค้านวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุน ให้การดำเนินการธุรกิจนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้อย่างมี นัยสำคัญ
ในการนี้ สอวช. จึงขอเสนอให้สภานโยบายจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ และส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนด แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม รวมถึงกำหนดแนวทาง กลไก มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินงานส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อสภานโยบายเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

เรื่องเดิม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้
สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรม
ถ่ายทอดองค์ความรู้จากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น โดยมี
เป้าหมายสำคัญให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ทางสังคม
ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องมีกลไกการ
บริหารจัดการที่มีความคล่องตัว โดยเฉพาะกระบวนการจัดหาพัสดุเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา การบริการ
วิชาการ และการสร้างนวัตกรรมซึ่งโดยธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของความสำเร็จของงานวิจัย และมี
ความยุ่งยาก และซับซ้อนในการจัดหามากกว่าการจัดหาพัสดุปกติ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าและ
ส่งผลต่อการส่งมอบผลงานวิจัย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับกับทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมด้วย มีหลักการ
เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความ
โปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เป็นหลักการที่ดีแต่อาจไม่สอดคล้องกับการจัดหาพัสดุ
เพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น การ
จัดซื้อจัดจ้างพัสดุชีวภาพ หรือพัสดุท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตามข้อกำหนดของงานวิจัย ข้อกำหนดให้จ่ายเงิน
ล่วงหน้าสำหรับการซื้อการจ้าง การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุต่างประเทศ การโอนพัสดุ และการแปรสภาพพัสดุ
โดยที่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 19
กำหนดว่า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อ
การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่
คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและ
การบริหารพัสดุภาครัฐประกาศกำหนด โดยสภานโยบายอาจขอให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง
และการบริหารพัสดุภาครัฐดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หรือ
ขอให้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร
พัสดุภาครัฐมาใช้บังคับแก่การจัดซื้อจัดจ้างใดตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและ
นวัตกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
เพื่อแก้ไขข้อจำกัด สร้างระบบที่คล่องตัวและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างกับการจัดหาพัสดุ
ของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
แห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จึงมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง
คณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการ
พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีขึ้นเพื่อทำหน้าที่พัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา
การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งมี ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน
กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และด้านวิจัยพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย
ของรัฐ รวมถึงกรมบัญชีกลาง เป็นองค์ประกอบในคณะกรรมการด้วย โดยประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การดำเนินงาน
คณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ได้มีการประชุม 6 ครั้ง เพื่อพิจารณาหลักการ แนวทางการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา และเพื่อการให้บริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาที่คล่องตัวและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างกับการจัดหาพัสดุของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม และมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2563
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 เห็นชอบ ในหลักการของร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางและแนวทางให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา

เรื่องเดิม

1. ปัจจุบันการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการให้ทุนตามความต้องการของภาครัฐ หรือ Supply Side ในขณะที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ มีการให้ทุนกับภาคเอกชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชน รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) และผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจธุรกิจนวัตกรรม โดยให้ทุนผ่านโปรแกรมในรูปแบบต่าง ๆ และโดยที่ได้มีพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 กำหนดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมไว้รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมด้วย ดังนั้น การมีระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
พ.ศ. …. จะช่วยกำกับการทำงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม (Governance) และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) ของหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เป็นไปตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ผ่านระบบการจัดสรรทุน (Funding) นอกจากนี้ ปัจจุบันการจัดสรรทุนของหน่วยงานของรัฐมีความหลากหลาย และมีรูปแบบขั้นตอนที่ต่างกัน การกำหนดระเบียบนี้จะเป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับหน่วยงานใช้อ้างอิงในการจัดสรรทุนได้อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้หน่วยงานของรัฐกล้าตัดสินใจลงทุนวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

2. พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 28 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่บุคคล คณะบุคคล ชุมชน หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดในระเบียบของสภานโยบาย โดยการสนับสนุนทุนดังกล่าวให้มุ่งเน้นโครงการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศ
(2) สามารถตอบสนองต่อการสร้างความรู้ใหม่ ยกระดับนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ แก้ปัญหาเชิงเทคนิค ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยี หรือมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
(3) มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม
(4) ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(5) ส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ทรงสิทธิหรือเจ้าของอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้น รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญาที่สิ้นอายุการคุ้มครองตามกฎหมาย ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาเพื่อต่อยอดความรู้และเทคโนโลยี
(6) ลักษณะอื่นตามที่สภานโยบายกำหนด

การดำเนินงาน
สอวช. ได้จัดทำร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้นำ
ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. …. และนำเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิพิจารณา
ร่างกฎหมายลูกบทภายใต้กฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ซึ่งมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว

เรื่องเดิม
พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 และมาตรา 11 กำหนดให้มีสภานโยบายมีหน้าที่และอำนาจเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และมาตรา 7 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้มีการผลิตกำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศ และให้มีการนำวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ให้สภานโยบายแต่งตั้งที่ปรึกษาของสภานโยบายจำนวนไม่เกินห้าคน และให้ที่ปรึกษาของสภานโยบายเข้าร่วมประชุมสภานโยบายและมีสิทธิชี้แจงแสดงความคิดเห็นแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

การดำเนินงาน
เพื่อให้การทำหน้าที่ของสภานโยบายในการส่งเสริมให้มีการผลิตกำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการ
ของประเทศ และให้มีการนำวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาสภานโยบาย จำนวน 5 ท่าน ดังนี้

  1. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์
  2. ศาสตราจารย์สมบูรณ์ สุขสำราญ
  3. รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์
  5. นายพุฒ วีระประเสริฐ

การดำเนินการ
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ
ร่วม ได้มีการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2562 แล้วจำนวน 12 ครั้ง มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
สรุปได้ดังนี้

1. แก้ไขข้อจำกัดการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม
สาระสำคัญ
• การดำเนินการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วจำเป็นต้องมีกลไก
การบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว โดยเฉพาะกระบวนการจัดหาพัสดุเกี่ยวกับการวิจัยและ
พัฒนา การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรมซึ่งโดยธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงในเรื่อง
ของความสำเร็จของงานวิจัย และมีความยุ่งยาก และซับซ้อนในการจัดหามากกว่าการจัดหา
พัสดุปกติ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลต่อการส่งมอบผลงานวิจัย
• พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 19
กำหนดว่า สภานโยบายอาจขอให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร
พัสดุภาครัฐดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หรือ
ขอให้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
และการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับแก่การจัดซื้อจัดจ้างใดตามพระราชบัญญัติการส่งเสริม
วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
สถานภาพปัจจุบัน
• คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ได้เสนอให้สภานโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา
และออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนา
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยมีศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน
• คณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้มีการประชุมจำนวน 6 ครั้ง
โดยได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการ
ของสถาบันอุดมศึกษา เสนอต่อสภานโยบายในการประชุมครั้งที่ 2/2563 (วันที่ 17 กันยายน
2563) เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพิจารณาต่อไป
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จะดำเนินงานตามมติของสภานโยบายต่อไป

2. การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม โดยกลไก Holding Company
สาระสำคัญ

การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมและกฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม (อว.) ให้อำนาจสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนผู้ประกอบการนำความรู้ ผลงานวิจัยและ
นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ และให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการร่วมลงทุนกับ
เอกชนเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการร่วมลงทุนระหว่าง
มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company
เป็นรูปแบบหนึ่งที่สามารถผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง
สถานภาพปัจจุบัน
สอวช. ได้หารือผู้เชี่ยวชาญทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ
ในการดำเนินการกิจกรรมการร่วมลงทุน รวมถึงขั้นตอนการร่วมลงทุนในรูปแบบ Holding
Company ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
ร่วมกันและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร
หน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส และได้จัดทำหลักการของชุดมาตรการส่งเสริม
การร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding Company
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สอวช. เสนอหลักการของชุดมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding
Company ต่อสภานโยบายและเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง การปรับปรุง
กฎหมายและระเบียบ และส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม รวมถึงกำหนดแนวทาง กลไก มาตรการ
ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินงานส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ได้อย่างคล่องตัวมาก
ยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและได้รับสิทธิประโยชน์ หรือ
การยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการพิจารณา
ดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อสภานโยบายเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

3. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….
สาระสำคัญ

แนวคิดของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ผู้รับทุนวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและ
นวัตกรรมที่เกิดจากการรับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนของรัฐได้ ทำให้เกิดความ
คล่องตัวในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้รับทุนไปยังภาคเอกชนซึ่งจะเป็นผู้นำผลงานวิจัยและ
นวัตกรรมนั้นไปผลิตเป็นสินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้โดยไม่ติดกับระเบียบหรือกฎหมายของ
หน่วยบริหารและจัดการทุนของรัฐ (ผู้ให้ทุน) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกลไกในการสร้างแรงจูงใจ
ให้แก่นักวิจัยในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดย
นักวิจัยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นไปใช้ประโยช น์ในเชิง
พาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณและคุณภาพทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ
สถานภาพปัจจุบัน
กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้เสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 กันยายน
2561 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ อว. อยู่ระหว่าง
ส่งหนังสือยืนยันร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และ
เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและ
นวัตกรรม พ.ศ. …. และเสนอให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้รับการพิจารณาตามแผนและขั้นตอน
การดำเนินการปฏิรูปประเทศ ตามนัยของการจัดทำกฎหมายปฏิรูปประเทศในหมวด 16 การปฏิรูป
ประเทศ มาตรา 258 ฉ. ด้านเศรษฐกิจ
การดำเนินงานขั้นต่อไป
ผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามแผนและขั้นตอนการ
ดำเนินการปฏิรูปประเทศ ตามนัยของการจัดทำกฎหมายปฏิรูปประเทศในหมวด 16 การปฏิรูป
ประเทศ มาตรา 258 ฉ. ด้านเศรษฐกิจ และจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติฉบับ
นี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

4. การขับเคลื่อน Regulatory Sandbox เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านเกษตร อาหารและ Circular
Economy
สาระสำคัญ

หลักการการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Sandbox) ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการ
อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตราที่ 14 และ 15 มี
วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ที่มีความสำคัญยิ่ง
ต่อการพัฒนาประเทศหรือเป็นประโยชน์ยิ่งต่อประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ในการผลิตกำลังคน
ระดับสูงเฉพาะทางที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยให้สภานโยบายมอบหมาย
ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการวิจัยนั้น และให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายได้รับสิทธิประโยชน์และการ
ยกเว้นมิให้นำกฎหมายมาบังคับใช้
สถานภาพปัจจุบัน
สอวช. ได้จัดทำรายงานการศึกษาหลักการการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการสร้าง
นวัตกรรมด้านเกษตร อาหารและ Circular Economy โดยรวบรวมปัญหาและอุปสรรค วิเคราะห์
ประเด็นกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความต้องการในการแก้ไขประเด็นกฎหมายและ
ระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว การจัดลำดับความสำคัญหัวข้อที่ควรได้รับการผ่อนปรนกฎหมายและ
มาตรการ และจัดกลุ่มประเด็นกฎหมายและระเบียบที่ต้องการแก้ไข เพื่อจัดทำแผนดำเนินการ
สำหรับมาตรการและแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อน Regulatory Sandbox เพื่อสร้างนวัตกรรม
ด้านเกษตร อาหารและ Circular Economy
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สอวช. เสนอต่อสภานโยบายให้พิจารณามอบหมายคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องที่ฝ่าย
เลขานุการเสนอให้มีการแต่งตั้งในการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม ครั้งที่ 2/2563 ขับเคลื่อน Regulatory Sandbox เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านเกษตร
อาหารและ Circular Economy โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน
และกระทรวงต่าง ๆ ที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบในเรื่องนั้น ๆ

5. การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา
สาระสำคัญ

การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความ
เป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของ
ประเทศ สนับสนุนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนา (Transformation) เชิงระบบและ
ธรรมาภิบาลของการอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองตามความต้องการและครอบคลุมคนทุกกลุ่มให้
สามารถเข้าถึงการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพในต้นทุนที่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึง สนับสนุนเงินกู้ยืม
ดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ
สถานภาพปัจจุบัน
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ สอวช.
ได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบการอุดมศึกษา เสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(กกอ.) โดยที่ประชุม กกอ. มีมติเห็นชอบหลักการการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม
2563 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สป.อว. เสนอการจัดตั้งกองทุนต่อคณะกรรมการนโยบายทุนหมุนเวียนเพื่อขออนุมัติจัดตั้งกองทุน
และยุบรวมกองทุนอุดมศึกษาเอกชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม (รมว. อว.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว. กค.) ร่วมกันเสนอข้อเสนอ
จัดตั้งกองทุนต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติต่อไป

6. ประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สาระสำคัญ

มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 กำหนดเมื่อครบสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ตามมาตรา 41 ประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติ
ราชการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการตามมาตรา 8
(4) และในกรณีที่เห็นว่า ผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงโครงสร้าง
และกลไกในการบริหารเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งสำนักงานการวิจัย
แห่งชาติเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน โดยเสนอพร้อมร่างพระราช
กฤษฎีกาด้วย และเมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับให้มาตรา 8 (4) และมาตรา 13
เป็นอันยกเลิก โดยหลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการ ให้เป็นไป
ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ กำหนด
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อว. แต่งตั้ง
คณะกรรมการกำกับประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานการวิจัย
แห่งชาติ (วช.) โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ทำหน้าที่
เสนอแนะการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการ
เสนอแนะการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการ รวมถึงการพัฒนาหรือ
ปรับปรุงโครงสร้างและกลไกในการบริหารของ วช. ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ
สถานภาพปัจจุบัน
คณะกรรมการกำกับประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช. ได้ประชุมแล้ว
2 ครั้ง เพื่อกำหนดกรอบการประเมิน ประเด็นการประเมิน และกลไกและขั้นตอนการประเมิน
โดยใช้หลักการประเมินเพื่อการพัฒนา (Development Evaluation) ที่เน้นการประเมินแบบมี
ส่วนร่วม (Inclusive Assessment) รวมทั้งให้มีการประเมินโดยเทียบเคียงผลการปฏิบัติงาน
(Benchmarking) กับหน่วยงานบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU)
อื่น ๆ รวมถึงการมองภาพรวมและคำนึงถึงพลวัตของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(Dynamic Ecosystem) และการประเมินเพื่อเกิดการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร (Learning
Process) คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม
2563 ให้ข้อเสนอแนะต่อกรอบการประเมิน ประเด็นการประเมิน และกลไกและขั้นตอน
การประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช.
การดำเนินงานขั้นต่อไป
คณะกรรมการกำกับประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช. จะจัดทำ
รายละเอียดตามประเด็นการประเมิน OKRs และเกณฑ์การประเมิน (ร่วมกับ วช.) ต่อไป

7. ข้อเสนอการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม
สาระสำคัญ

คณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้าน ววน. ได้เสนอ
ผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ โดยได้รับข้อเสนอแนะ ดังนี้
การคำนวณกรอบวงเงินงบประมาณใหม่ควรพิจารณาบริบทภาพรวม และกรอบวงเงิน
งบประมาณของทั้งประเทศสำหรับการเสนอกรอบวงเงินต่อสำนักงบประมาณควรมีรายละเอียด
เพียงพอที่จะชี้แจงได้ว่าผลที่จะได้รับจากการลงทุนคืออะไร เพื่อให้สามารถจัดลำดับความสำคัญ
ร่วมกับกรอบวงเงินงบประมาณของประเทศได้ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อให้กรอบวงเงินงบประมาณที่กำหนดมีความเหมาะสม
และเป็นส่วนหนึ่งของกรอบวงเงินงบประมาณของประเทศที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
สถานภาพปัจจุบัน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 เมษายน
2563 พิจารณาแนวทางการจัดทำกรอบวงเงินด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม และมีมติให้มอบหมายฝ่ายเลขานุการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม
เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้าน
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำกรอบวงเงินด้าน
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามแนวทางและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ต่อไป

8. การวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สาระสำคัญ

การจัดทำฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา
มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดว่า กระทรวงมีหน้าที่จัดทำ
ฐานข้อมูลการอุดมศึกษาของประเทศ โดยรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่
เกี่ยวกับการอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการ
ดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 42 วรรคสอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขที่สภานโยบายกำหนดการเปิดเผยข้อมูลตามความในส่วนนี้ย่อมได้รับความคุ้มครองและ
จะนำไปเป็นเหตุในการฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ มิได้
การจัดทำฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
กำหนดว่า ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจัดทำฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ของประเทศเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจัดให้
มีระบบข้อมูลสารสนเทศกลางเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ
และนานาชาติกับระบบสารสนเทศของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม และให้มีอำนาจ
เข้าถึงฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานดังกล่าวทุกหน่วยงาน ให้
หน่วยงานของรัฐในระบบวิจัยและนวัตกรรมทุกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและ
นวัตกรรมตามมาตรา 22 และมาตรา 23 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนกับระบบข้อมูล
สารสนเทศกลางที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานการวิจัย
แห่งชาติเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมตามมาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรานี้ กับ
ระบบข้อมูลสารสนเทศของ สอวช. และ สกสว. โดยให้ สอวช. และ สกสว. มีอำนาจนำข้อมูล
ดังกล่าวไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้
สถานภาพปัจจุบัน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
พิจารณาการจัดทำฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม มีข้อเสนอแนะดังนี้
การจัดทำฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา : ควรมีการออกแบบโครงสร้างระบบข้อมูล
(Architecture) โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เป็นระบบสารสนเทศกลางด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยออกแบบระบบให้มีกลไกการดำเนินการที่สอดคล้อง
กับระบบข้อมูล National Data Catalogue กลางของประเทศ และใช้ประโยชน์ในการติดตาม
และประเมินผลอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ควรต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนในการ
ได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ครบถ้วนและครอบคลุม รวมถึงต้องใช้งานได้ง่าย (User Friendly) และมี
การจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของ
สาธารณชน นอกจากนี้ โครงสร้างระบบข้อมูลควรมีการเชื่อมโยงกับข้อมูลของภาคเอกชนด้วย
รวมถึงการบริหารจัดการฐานข้อมูลควรจ้างหน่วยงานภายนอก (Outsource) เพื่อให้มีการ
ปรับปรุงข้อมูล (Update) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ผลได้อย่างทันการณ์
รวมถึงต้องกำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อให้มีข้อมูลที่มีคุณภาพ
การจัดทำฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม มีค่อนข้างครบถ้วน ส่วนข้อมูล ววน. ในส่วนอื่น ๆ ควรมีกลไกในการจัดเก็บข้อมูลโดย
การสร้างแรงจูงใจในลักษณะ Positive Enforcement เช่น การให้สิทธิประโยชน์การจัดซื้อจัดจ้าง
โดยภาครัฐ (Government Procurement) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม
ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเอกชนจึงต้องมีกลไกหรือวิธีการเพื่อจัดเก็บข้อมูลในส่วนนี้ให้ถูกต้องและ
ครบถ้วน สำหรับระบบสารสนเทศกลางต้องเป็นระบบที่สนับสนุนการติดตามและประเมินผลใน
ลักษณะ PDCA ได้แก่ Plan Do Check และ Act และระบบข้อมูลสารสนเทศกลางควรจัดทำให้
เห็นภาพรวมด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการเชื่อมโยง
ข้อมูลด้านการอุดมศึกษา และข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งข้อมูลควรเป็น
มาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ระบบ NRIIS ควรมีการเชื่อมโยงและนำเข้าข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้
มีการไหลข้อมูลเข้าระบบโดยอัตโนมัติ และมีการกรองข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ผลได้
อย่างรวดเร็ว และควรกำหนดบทบาท หน้าที่ ของผู้รับผิดชอบข้อมูลในแต่ละส่วนให้ชัดเจน
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้าน
การอุดมศึกษา และฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามแนวทางและข้อเสนอแนะ
ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ต่อไป

9. ข้อเสนอเชิงนโยบายการให้ทุนสนับสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SBIR: Small
Business Innovation Research แ ล ะ STTR: Small Business Technology Transfer
Research)
สาระสำคัญ

โปรแกรมการให้ทุนสนับสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SBIR/STTR) มีหลักการ
สำคัญในการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยตรงเพื่อทำ
โครงการวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของภาครัฐและสังคม โดยมีกระบวนการและ
ขั้นตอนการสนับสนุนงบประมาณที่มีมุ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการ เช่น การกำหนดโจทย์วิจัยและ
นวัตกรรมที่มาจากความต้องการของหน่วยงาน การมีผู้เชี่ยวชาญประเมินการให้ทุน 3 ระยะ และ
มีกลไกการรับซื้อผลงานวิจัยและนวัตกรรมเมื่อสำเร็จ นอกจากนี้ ในกรณีของ STTR ได้กำหนดให้
มีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย โดยโปรแกรม SBIR และ STTR มุ่งหวังให้
เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
และออกสู่ตลาดได้จริง ก่อให้เกิดการจ้างงานระบบวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น
สถานภาพปัจจุบัน
สอวช. ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการให้ทุนสนับสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน
หลักการ และ สอวช. ได้หารือร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เกิดผลักดันการ
ให้ทุนตามหลักการ SBIR/STTR โดยจะพัฒนาเป็นโปรแกรมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป
การดำเนินงานขั้นต่อไป
สอวช. ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนผลักดันการให้ทุนตามหลักการ SBIR/STTR เพื่อพัฒนา
เป็นโปรแกรมการให้ทุนสนับสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเกิดการขับเคลื่อนการ
ดำเนินงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

10. การตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์บริการ
สาระสำคัญ

มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม กำหนดให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์บริการตาม
กฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
และเมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ให้มาตรา 8 (3) และมาตรา 12 เป็นอันยกเลิก
สถานภาพปัจจุบัน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 วันที่ 9 ธันวาคม
2562 มีมติรับทราบกลไกการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศสำหรับ
นวัตกรรม (NQI for Innovation) ของกรมวิทยาศาสตร์บริการโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้
จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาศาสตร์บริการ พ.ศ. …. เพื่อการบริหารจัดการ
องค์การให้มีประสิทธิภาพ พ.ศ. …. และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) พระราชบัญญัติ
สถาบันวิทยาศาสตร์บริการ พ.ศ. … . จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผ่านทางเว็บไซต์
ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เพื่อประมวลความเห็น
ประกอบการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาศาสตร์บริการ พ.ศ. …. เพื่อตราเป็น
กฎหมายต่อไป คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม
2563 พิจารณาเรื่อง การปรับบทบาทของกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อรองรับการเป็น
องค์การมหาชนในอนาคต และมีมติให้กรมวิทยาศาสตร์บริการหารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. ถึง
แนวทางและความเป็นไปได้ที่เหมาะสมในการใช้พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
สถาบันวิทยาศาสตร์บริการ ต่อไป
การดำเนินงานขั้นต่อไป
กรมวิทยาศาสตร์บริการดำเนินการปรับแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์
บริการ พ.ศ. …. เพื่อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ พิจารณาต่อไป

เรื่องเดิม
ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สอวช. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
และสภานโยบาย และเผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชน
รายงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดของงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว
พร้อมทั้งผลงานและรายงานการประเมินผลการดำเนินงานประจำปีของ สอวช. ในปีที่ล่วงมา
มาตรา 25 กำหนดให้ กอวช. มีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของ สอวช. เพื่อให้
เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และ (7) ให้ กอวช. ให้ความเห็นชอบรายงานประจำปีของ สอวช. ตามมาตรา 52

ความก้าวหน้า
สอวช. ได้จัดทำรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม เป็นประธาน ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 มีมติเห็นชอบ
และมอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสภานโยบายตามกระบวนการต่อไป