สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำรายงานการประชุม และแจ้งเวียนให้กรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยมีกรรมการขอปรับแก้ไขข้อความ หน้า ๘ ข้อคิดเห็นของที่ประชุมข้อ ๒ ดังนี้ “โครงการวิจัยที่เป็นโครงการต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ ให้ทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่มีรายละเอียดโครงการแสดงถึงปีเริ่มต้นถึงสิ้นสุดโครงการ กิจกรรมและการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละปีประกอบการพิจารณาของสำนักงบประมาณ เพื่อที่จะได้จัดสรรงบประมาณตามที่จะใช้จ่ายจริงเป็นรายปี รวมถึงพิจารณาผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมาด้วย”
เรื่องเดิม
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีมติเห็นชอบ ๑) ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๗๐ และร่างกรอบแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕ ซึ่งประกอบด้วย ๔ แพลตฟอร์มและ ๑๖ โปรแกรม และ ๒) เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมทั้งสิ้น ๓๗,๐๐๐ ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว
งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ในภาพรวมได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในกรอบวงเงินรวม ๒๔,๖๔๕ ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ๒ แผนงานคือ แผนงานพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กรอบวงเงิน ๔,๓๕๐ ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กรอบวงเงิน ๒๐,๒๙๕ ล้านบาท
กรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมข้างต้น เป็นการจัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. เป็นจำนวน ๑๒,๕๕๕ ล้านบาท และจัดสรรตรงให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. เป็นจำนวนเงิน ๑๒,๐๙๐ ล้านบาท
งบประมาณในส่วนของกองทุนส่งเสริม ววน. ๑๒,๕๕๕ ล้านบาท ถูกจัดสรรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย ๔ แพลตฟอร์มและ ๑๖ โปรแกรมที่ผ่าน การอนุมัติโดยสภานโยบายฯ และจะถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ งบประมาณแผนงานสำคัญ (Flagship) จำนวน ๘,๓๘๔ ล้านบาท และงบประมาณโครงการปกติ ๔,๑๗๑ ล้านบาท
บัดนี้กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในภาพรวมของประเทศได้ผ่านการกระบวนการพิจารณาของอนุกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในวาระแรกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งบประมาณในส่วนของกองทุนส่งเสริม ววน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น ๑๒,๕๕๕ ล้านบาท ตามจำนวนที่เสนอ
การดำเนินงาน
๑. ภาพรวมงบประมาณ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้วิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้าน ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ในกรอบวงเงินเบื้องต้นรวม ๒๔,๖๔๕ ล้านบาท เป็นแผนงานสำคัญตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ๘,๓๕๔ ล้านบาท และเป็นแผนงานโครงการอื่นๆ จำนวน ๑๖,๒๖๑ ล้านบาท สัดส่วนแผนงานสำคัญคิดเป็น ร้อยละ ๓๔.๐
งบประมาณด้าน ววน. ส่วนใหญ่จัดสรรให้กับการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เป็นจำนวน ๙,๕๗๗ ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ ๓๘.๙ ของงบประมาณด้าน ววน.ทั้งหมด การเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขัน (รวมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่และภูมิภาค) คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๓ การตอบโจทย์ท้าทายของสังคมร้อยละ ๑๖.๖ การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำร้อยละ ๕.๒ และการปฏิรูประบบ อววน. ร้อยละ ๔.๖ ทั้งนี้ งบประมาณแผนงานสำคัญด้าน ววน. หรือ Flagship มีส่วนสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๖๕.๒ และ ๖๔.๖ ของงบประมาณทั้งสองแพลตฟอร์มตามลำดับ
๒. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การลงทุนด้าน ววน. ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตความรู้ หรือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา แต่ยังมีความคาดหวัง ในการใช้กลไกและผลจากการลงทุนด้าน ววน. ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น
๑) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณจำนวน 6,052 ล้านบาท
− Innovative SMEs จำนวน 5,000 ราย (ยอดขายเพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท/ปี)
− Tech Enterprises 100 ราย
− การจ้างงานภายใน 5 ปี 100,000 คน
− การลงทุน R&D ของภาคเอกชน 80,000 ล้านบาท
− คนในชุมชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใน 5 ปี 3,000,000 คน
๒) การพัฒนา Startup และระบบนิเวศนวัตกรรม งบประมาณจำนวน 734 ล้านบาท
− Startup ที่จัดตั้งใหม่และอยู่รอดเกิน 3 ปี จำนวน 330 ราย/ปี และเพิ่มเป็น 1,000 ราย ในปี 2565
๓) ชุมชนนวัตกรรม งบประมาณจำนวน 1,270 ล้านบาท
− อัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 10
− ชุมชนมีขีดความสามารถในการจัดการตนเอง 500 ตำบล/ปี
− นักวิจัยชาวบ้าน/นวัตกรชาวบ้าน 1,000 คน/ปี
− คนจน 40% ล่างสุด รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างทั่วถึง อย่างน้อย 20,000 คน
− นวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับวิสาหกิจ/OTOP 500 ชิ้น
− ผู้ประกอบการในชุมชน/รุ่นใหม่ อย่างน้อย 50 คน
๔) การแก้ปัญหาท้าทายของสังคม งบประมาณจำนวน 4,362 ล้านบาท
− ลดปัญหาคุณภาพอากาศ (PM 2.5)
− ลดปริมาณขยะและขยะพลาสติก 10% ต่อปี
− ลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศชายฝั่ง 10%
− ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงวัย 60,000 ล้านบาท
− ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ได้รับประโยชน์ 6.6 ล้านคน
− ลดอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 5% ต่อปี
๕) การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งบประมาณจำนวน 3,369 ล้านบาท
− จำนวนนักวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็น 30 คนต่อประชากร 100 คน
− กำลังคนรองรับ EEC ที่เพียงพอ
− สัดส่วนบัณฑิต/ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่มีทักษะตรงตามความต้องการของแรงงาน ไม่ต่ำกว่า 70%
− พัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจของเยาวชนและประชาชนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
− พัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์/ เทคโนโลยีแก่เยาวชน
๖) การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) งบประมาณจำนวน 3,371 ล้านบาท
− เกิด Deep-tech Startups จากการวิจัยขั้นแนวหน้าอย่างน้อย 5 ราย
− ผลงานวิจัยที่เป็น New Discovery, First in Class หรือ Best in Class อย่างน้อย 3 เรื่อง
− บทความตีพิมพ์ใน Top-tier Journals อย่างน้อย 50 ฉบับ
− เครือข่ายนักวิจัยไทยมีส่วนร่วมใน Global Frontier Research Value Chain หรือได้รับทุนวิจัยจากทุนสำคัญของโลก อย่างน้อย 10 โครงการ
− องค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้าใจทางสังคม อย่างน้อย 3 เรื่อง
− กำลังคนระดับสูงรองรับอุตสาหกรรมอนาคต
๗) โครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ งบประมาณจำนวน 3,970 ล้านบาท
− เกิดเทคโนโลยีต้นแบบ และความสามารถในการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างน้อย 5 ต้นแบบ
− มูลค่าการลงทุนของบริษัทที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 5 ปี
− ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ถูกนำไปสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 10 เรื่อง
− ความสามารถทางวิศวกรรมในการบำรุงรักษาระบบ และให้บริการต่อยอด
เรื่องเดิม
๑. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายทั้งในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดไว้ ดังนี้
- มาตรา ๑๑ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจ…จัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ…
- มาตรา ๑๗ (๑) กำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล และมาตรา ๑๗ (๒) เสนอแนะกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาต่อสภานโยบายฯ รวมทั้งเสนอระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว รัฐมนตรีต้องดำเนินการโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการการอุดมศึกษา
๒. มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้สภานโยบายมีหน้าที่และอำนาจเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
๓. มาตรา ๑๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินตามมาตรา ๑๑ (๒) แล้ว ในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ให้นายกรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของรัฐมนตรีและคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษาขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย บุคคลซึ่งสภานโยบายมีมติแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนคณะกรรมการการอุดมศึกษาจำนวนไม่เกินสองคน ผู้แทนสำนักงบประมาณจำนวนไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ และจะแต่งตั้งผู้แทนสำนักงบประมาณตามจำนวนที่เห็นสมควรเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ ทำหน้าที่พิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประเภทงบลงทุนและงบเงินอุดหนุนในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในความรับผิดชอบของกระทรวง ก่อนเสนอไปยังสำนักงบประมาณเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี โดยที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณ ด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
การดำเนินงาน
๑. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดทำ (ร่าง) แผนด้าน การอุดมศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ โดยการจัดทำแผนดังกล่าวได้เชื่อมโยงกับโจทย์สำคัญจากยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๗๐ และ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ
๒. สป.อว. จัดทำ (ร่าง) กรอบวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้านการอุดมศึกษา และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อการทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณสำหรับการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๔๕ (๑) (๒) และ (๓)
๓. สป.อว. เสนอ (ร่าง) แผนด้านการอุดมศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ (ร่าง) กรอบวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้านการอุดมศึกษา และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในการประชุม ครั้งที่ ๑๔/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนฯ (ร่าง) กรอบวงเงินงบประมาณ และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว
เรื่องเดิม
๑. พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๘ กำหนดให้สภานโยบายมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง เพื่อดำเนินการแทนสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการหนึ่งคน ซึ่งแต่งตั้งจากกรรมการสภานโยบาย
(๒) กรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคน ซึ่งแต่งตั้งจากกรรมการสภานโยบาย
(๓) พนักงาน สอวช. ที่ผู้อำนวยการ สอวช. แต่งตั้ง ทำหน้าที่เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ในกรณีจำเป็นสภานโยบายอาจมีมติให้เชิญบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่อง ที่จะพิจารณา ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและ มาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจ ตลอดจนการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภานโยบายกำหนด
เมื่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องได้มีมติในเรื่องใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นมติของสภานโยบายและให้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินการตามมตินั้น เว้นแต่สภานโยบายจะกำหนดเป็นอย่างอื่นเฉพาะกรณี
๒. มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตามมาตรา ๑๑ (๑) ให้ สภานโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องตามมาตรา ๑๘ เพื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วรายงานให้ สภานโยบายทราบตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามระเบียบที่สภานโยบายกำหนด
การดำเนินงาน
สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการสภานโยบาย ได้จัดทำร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง พ.ศ. …. เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิพิจารณาร่างกฎหมายลูกบทภายใต้กฎหมายจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
๑. คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องมีหน้าที่และอำนาจในลักษณะงานตามพันธกิจ โดยไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติที่มีคณะกรรมการอื่นดำเนินการอยู่แล้ว
๒. คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องมี ๒ ประเภท ได้แก่
(๑) คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ
(๒) คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องเพื่อการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
๓. สภานโยบายอาจมีมติให้เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการจะพิจารณา ให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนั้นเป็นครั้งคราวก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
๔. คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินการต่อสภานโยบายอย่างน้อยปีละสองครั้ง โดยคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่อการติดตามประเมินผลต้องรายงานผลอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ผลการประเมินและระดับความสำเร็จในการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาและแนวปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนดังกล่าว
๕. วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง
รายละเอียดตามเอกสารประกอบวาระการประชุม
เรื่องเดิม
๑. มาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๓๕/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งดำรงตำแหน่ง อยู่ในวันก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมถึงที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อมา ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๘/๒๕๖๒ และ ๒๐๙/๒๕๖๒ ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม
๒. การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศตามกฎหมายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นขับเคลื่อนการปฏิรูปใน ๔ ด้าน ดังนี้
๑) ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้ประเทศมีทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพ โดยมีกลไกคณะกรรมการ ประกอบด้วย ๑) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ดูแลงานด้านการอุดมศึกษา และ ๒) มีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ดูแลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
๒) ด้านงบประมาณ มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะมีการสนับสนุนงบประมาณแบบ Block grant และ Multi-year โดยงบประมาณดังกล่าว จะถูกจัดสรรให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตอบโจทย์ประเทศ โดยมีการประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่ทับซ้อน และมุ่งเน้นให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
๓) ด้านการบริหารจัดการ มีกำหนดกลไกหลายด้านช่วยการบริหารจัดการ เช่น (๑) การกำหนดให้มีการจัดประเภทหน่วยงานในระบบการอุดมศึกษา และระบบวิจัยและนวัตกรรม ทำให้หน่วยงานมีทิศทางใน การดำเนินงาน (๒) การปรับโครงสร้างส่วนราชการ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (๓) การเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้การจัดทำนโยบายอยู่บนพื้นฐานของความจริง (Evidence based) (๔) การติดตามและประเมินผลในระดับนโยบาย ระดับกองทุน และระดับปฏิบัติ ทำให้สามารถตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลที่จะเกิดขึ้นได้
๔) ด้านกฎหมาย มีประเด็นที่ให้ดำเนินการจัดทำกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์ที่สนับสนุนให้เกิดความคล่องตัว อำนวยความสะดวก ลดปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ และลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น
การดำเนินงาน
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
๑. เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๑) คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเสนอ รมว.อว. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงาน เพื่อออกแบบระบบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดโครงสร้างระบบหน่วยงาน
๒) รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
๒.๑) คำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ ๗/๒๕๖๒ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
หน้าที่และอำนาจ
๑) ออกแบบกลไกและกระบวนการการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำงบประมาณเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกัน
๒) ออกแบบและพัฒนาระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแบบต่อเนื่องข้ามปีงบประมาณ (Multi-year)
๓) เสนอรูปแบบการจัดทำข้อตกลงในการดำเนินโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือโครงการวิจัยและนวัตกรรมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และข้อตกลงการพัฒนาการอุดมศึกษากับสำนักงานปลัดกระทรวง (สป.อว.)
๔) เชิญหน่วยงานหรือบุคคลมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๕) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น
๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมอบหมาย
๒.๒) คำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ ๖/๒๕๖๒ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
หน้าที่และอำนาจ
๑) จัดทำข้อเสนอการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับแก่การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
๒) พัฒนาและออกแบบกลไกการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
๓) จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ ๑) และ ๒)
๔) เชิญหน่วยงานหรือบุคคลมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๕) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น
๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมอบหมาย
๒. หลักการและแนวทางการส่งเสริม Innovation Sandbox คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ มีข้อสังเกต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของ Innovation Sandbox ควรพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำไปใช้ประโยชน์ว่าก่อให้เกิดการเรียนรู้ มีการสร้างรายได้ มีตลาดรองรับ มากกว่าการมุ่งเน้นกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการซึ่งเป็นเรื่องการบริหารจัดการ
๒) ควรพิจารณาบทบาทของการกำกับดูแล (Regulator) หรือติดตามประเมินผลให้มีความเหมาะสม ไม่สร้างขั้นตอนที่เป็นภาระ ข้อจำกัด หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการหรือผู้เข้าร่วมโครงการเกินความจำเป็น โดยผู้กำกับควรทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเป็นหลัก
๓) การดำเนินการ Innovation Sandbox มีลักษณะเป็นโครงการที่อาจเป็นสาขาหรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้หลากหลาย ดังนั้น การบริหารจัดการควรต้องพิจารณาความสามารถและความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการ ซึ่งควรต้องเป็นผู้มีความรู้ทั้งในประเด็นที่จำเพาะต่อกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) และประเด็นเชิงกฎหมาย
๔) การดำเนินงานในส่วนของให้ได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยงข้อง สภานโยบายจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาด้วย
๓. แนวทางการบริหารจัดการงบประมาณด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแบบ Block Grant และ Multi-year คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ มีข้อสังเกต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑) การจัดทำงบประมาณแบบ Block Grant และ Multi-year มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการงบประมาณ โดยต้องสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
๒) กองทุนควรมีแผนการใช้จ่ายงบประมาณผูกพันและศึกษาสภาพคล่องของกองทุนให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ถึงรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการในแต่ละปีล่วงหน้า และงบประมาณขั้นต่ำเพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุนในแต่ละปีแต่ไม่ใช่การของบประมาณต่อเนื่องทั้งหมดและมารวมไว้ในกองทุน เพราะสำนักงบประมาณจะพิจารณางบประมาณรายปีโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
๓) แนวทางการบริหารจัดการงบประมาณแบบ Multi-year สามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ของ กสว. ในการจัดสรรงบประมาณ ตามที่ระบุในมาตรา ๑๗ (๒) ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้
๔. กลไกการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศสำหรับนวัตกรรม (NQI for Innovation) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ มีข้อสังเกต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑) การกำหนดมาตรฐาน (Standard) ที่รวดเร็วสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญใน การขับเคลื่อนนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว
๒) การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
๓) โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศสำหรับนวัตกรรม มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ดังนั้นการปรับภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้น ควรมีวิธีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบ (Impact) ที่ดีต่อของประเทศ และตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์