ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ ครั้งที่ 1/2563

14:00 น.
25 ธันวาคม 2564
ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันที่ : 25 ธันวาคม 2564
เวลา : 14:00 น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • สไลด์กรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง 1/2563
  • ใบนำวาระกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง 1/2563

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานและฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 มติสภานโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ
2.1 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศ นวัตกรรม และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 กรอบการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation ecosystem) ของประเทศ ปี 2570

3.2 นโยบายส่งเสริม University Holding Company
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ

การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ ครั้งที่ 1/2563

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานและฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบ

สภานโยบายมีมติเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 กำหนดให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องทำหน้าที่กำหนดแนวทาง กลไก มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้นกำหนดแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมเห็นชอบในหลักการการร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐโดยกลไก Holding Company และมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องฯ ดำเนินการจัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐร่วมลงทุนโดยกลไก Holding Company

         โดยมีหลักการและกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้

  • ดำเนินการตามภารกิจพิเศษเฉพาะเรื่องที่สภานโยบายมอบหมาย
  • เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมฯ ต่อสภานโยบาย
  • มอบหมายนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการขับเคลื่อน
  • แต่งตั้งคณะทำงานและที่ปรึกษาเพื่อเสนอและศึกษาประเด็นตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย

ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ

เรื่องเดิม

         พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 18 กำหนดให้ในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของสภานโยบายในเรื่องใดที่สภานโยบายเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ หรือมีเหตุอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของสภานโยบาย ให้สภานโยบายมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องเพื่อดำเนินการแทนสภานโยบาย

         คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง  ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคน
ซึ่งแต่งตั้งจากกรรมการสภานโยบาย และให้ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ แต่งตั้งพนักงานสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ทำหน้าที่เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ในกรณีจำเป็นสภานโยบายอาจมีมติให้เชิญบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

การดำเนินงาน         
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานกรรมการ เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสภานโยบาย จำนวน 2 ท่าน ให้ประธานสภานโยบายพิจารณาแต่งตั้ง และให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องในฐานะกรรมการจำนวน 11 ท่าน

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบาย ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ และได้เสนอประธานสภานโยบายลงนามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา

เรื่องเดิม

         สภานโยบายในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 มีมติรับทราบเป้าหมาย
การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ภายในปี 2570 ในมิติที่สำคัญ ดังนี้

  1. เศรษฐกิจนวัตกรรม มีเป้าประสงค์ในการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการทำวิจัยและพัฒนา (Gross expenditures on R&D: GERD) เป็น 2% ต่อ GDP มีบริษัทธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จำนวน 10,000 ราย (ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท) และมีบริษัทสัญชาติไทยอย่างน้อย 5 บริษัท ติดอันดับใน Fortune Global 500 Biggest Company
  2. การยกระดับสังคมไทยและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ มีเป้าประสงค์ในการยกระดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยด้านการศึกษา และด้านความยั่งยืนทางสังคม ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงมาก เพิ่ม Eco-efficiency จากการลดการใช้ทรัพยากร และการเกิดของเสียร้อยละ 5 ต่อปี
  3. เศรษฐกิจฐานราก มีเป้าประสงค์ในการลดจำนวนคนใต้เส้นความยากจนจาก 6.7 ล้านคน ให้เหลือน้อยกว่า 1 ล้านคน เพิ่มรายได้ครัวเรือนเกษตร 5 ล้านครัวเรือน ให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี และดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development Index: IDI) เพิ่มขึ้นจาก 4.3 เป็น 4.5 คะแนน

         เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ทั้ง 3 มิติให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาในอีก 2 มิติควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การพลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคน และการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การดำเนินงาน

            เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศด้วย อววน. ในมิติเศรษฐกิจนวัตกรรมเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ให้เข้มแข็ง สอวช. จึงได้จัดทำกรอบการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของประเทศปี 2570 ขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,000 ราย

            ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDE: Innovation Driven Enterprise)  หมายถึงผู้ประกอบการซึ่งมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในระดับโลก (Global Scale) โดยองค์ประกอบสำคัญของการเป็น IDE ได้แก่ 1) มีเป้าหมาย/พันธกิจ/การลงทุน ขององค์กรที่มุ่งสู่การสร้างนวัตกรรม 2) มีการดำเนินงานที่คำนึงถึงนวัตกรรมเป็นสำคัญ ทั้งด้านบุคลากร กระบวนการทำงาน ระบบ และโครงสร้างขององค์กร 3) มีรายได้ที่มาจาก
การทำนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

สอวช. จึงเสนอมาตรการส่งเสริมการสร้าง IDE โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

  1. IDE Accelerators โดยการส่งเสริม University Holding Companies และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรม
  2. Regional Innovation Economic Corridors เป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและส่งเสริมสินค้าและบริการนวัตกรรมตามแนวระเบียบเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ EEC (EECi, EEC-A, EECd, EECmd, EEC genomic) และ Route No. 1 Innovation Economic  Corridors รวมถึงเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพ
  3. ผลักดัน Strategic Sectors อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกษตรอาหาร และสุขภาพและการแพทย์
  4. Enabling Environment อาทิ การสร้างตลาดสินค้านวัตกรรม การสนับสนุนทางการเงิน เช่น มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐหรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดขนาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research, TBIR /Thailand Tech-Transfer Research, TTTR) กฎหมาย เช่น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ และโรงงานต้นแบบ (pilot plat)

เรื่องเดิม  

            ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีนโยบายส่งเสริมการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมโดยการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ การร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company เป็นรูปแบบที่หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนำมาใช้เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการจัดตั้งและการดำเนินงานของ Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยโดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย และมีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งมหาวิทยาลัยผู้สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะได้รับรายได้กลับคืนมาเข้าสู่หน่วยงานสำหรับสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้ต่อไป รวมถึงนักวิจัยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการกิจกรรมการร่วมลงทุน รวมถึงขั้นตอนการร่วมลงทุนในรูปแบบ Holding Company ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่จำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงอำนาจหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน รวมถึงยังขาดการส่งเสริมการดำเนินการในหลายๆ ด้าน อาทิ ขาดของบุคลากรมืออาชีพที่มีความชำนาญและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ขาดแรงจูงใจของนักวิจัยในการ Spin-off และมีข้อจำกัดในงบประมาณในการร่วมลงทุน

            สอวช. ในฐานะเลขานุการสภานโยบายจึงได้เสนอมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน โดยกลไก Holding Company ต่อสภานโยบายในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 โดยสภานโยบายเห็นชอบในหลักการการร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐโดยกลไก Holding Company และมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบดำเนินการจัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐร่วมลงทุนโดยกลไก Holding Company 

การดำเนินงาน

สอวช. ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริม University Holding Company ดังนี้

  1. การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งและดำเนินการ Holding Company ได้ตามกฎหมาย โดยจัดทำ Guiding Principle
  2. การส่งเสริมด้านเงินทุนในการร่วมลงทุนของ University Holding Company   
  3. กระทรวง อว. สนับสนุนการปรับปรุงระเบียบภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม
  4. สภานโยบายส่งเสริมมหาวิทยาลัยสร้าง Spin-off/Startup
  5. ส่งเสริม University Holding Company ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบทุนร่วมทุน (Fund of fund)

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)