โดยที่เป็นการสมควรกำหนดจริยธรรมการวิจัยทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยยึดถือประพฤติปฏิบัติ และมีกระบวนการรักษาจริยธรรมการวิจัย เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณและชื่อเสียง และฐานะของความเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม ให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมวิจัย และประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 41 (10) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยความเห็นชอบของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. ….”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
“จริยธรรมการวิจัยทั่วไป” หมายความว่า หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติและวิธีปฏิบัติที่ดีของนักวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติ
“การวิจัย” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างเป็นระบบ อันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ความรู้ใหม่ หรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี แนวทางในการปฏิบัติเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม อันจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
“นวัตกรรม” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ บริการ กรรมวิธี ที่เกี่ยวกับการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ การบริหารการเงิน ธุรกิจ การตลาด หรือในการอื่นใด ทั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ
“นักวิจัย” หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งทำการวิจัย และให้หมายความรวมถึงผู้ร่วมศึกษาวิจัย ผู้ช่วยวิจัย และปราชญ์ชาวบ้านหรือนักวิจัยท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนให้ศึกษาวิจัย โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปผสมผสานกับความรู้ใหม่เพื่อสร้างผลงานนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์ด้วย
“หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรม
“ผลงานวิจัย” หมายความว่า ข้อค้นพบหรือผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัยหรือ การสร้างนวัตกรรม โดยการค้นคว้า การทดลอง การสำรวจหรือการศึกษา รวมถึงองค์ความรู้ การประดิษฐ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ กระบวนการบริการ หรือการจัดการในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นข้อค้นพบใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ก็ตาม
“กสว.” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ข้อ 4 ให้ประธาน กสว.รักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ 5 จริยธรรมการวิจัยทั่วไปให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบนี้ และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดจริยธรรมการวิจัยเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์จริยธรรมที่มีมาตรฐานในการปฏิบัติไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบนี้ ให้ปฏิบัติไปตามที่กำหนดไว้ในจริยธรรมการวิจัยดังกล่าว
ข้อ 6 การวิจัยต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการดังนี้
(1) ความซื่อสัตย์สุจริต (honesty)
(2) การมีมาตรฐานการวิจัยอย่างเคร่งครัด (rigour)
(3) ความโปร่งใสและการสื่อสารโดยเปิดเผย (transparency and open communication)
(4) การมีศีลธรรม คุณธรรม มนุษยธรรม นิติธรรม และความเคารพผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
(5) ความรับผิดรับชอบและถูกตรวจสอบได้ (accountability)
ข้อ 7 นักวิจัย และที่ปรึกษาโครงการวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น มีจิตสำนึกที่ดี กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ร่วมงาน คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อ 8 นักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการวิจัยต้องรักษาภาพลักษณ์ของนักวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม
นักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการวิจัยต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจริยธรรมการวิจัย
เมื่อพบเห็นการกระทำความผิดจริยธรรมการวิจัย นักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการวิจัยต้องรายงานให้หน่วยงานต้นสังกัดและคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบทราบ
ข้อ 9 นักวิจัยต้องมีอิสระทางวิชาการ มีใจเปิดกว้างรับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และทำการวิจัยโดยปราศจากอคติทุกขั้นตอนของการวิจัย
ข้อ 10 นักวิจัยต้องให้เกียรติผู้อื่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
ข้อ 11 นักวิจัยต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยทำวิจัยอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความเสียสละ ขยัน อดทน อุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลดีที่สุด โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดในโครงการวิจัย และไม่ละทิ้งงาน
ข้อ 12 นักวิจัยต้องไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยวิธีการลอกเลียน ดัดแปลง หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใด รวมทั้งต้องไม่กระทำการอันเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
นักวิจัยต้องไม่ลอกเลียนผลงานของตนเอง (self-plagiarism) และไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปใช้ในสาระสำคัญหรือทำซ้ำในโครงการวิจัยอื่นโดยไม่อ้างอิง
ข้อ 13 นักวิจัยต้องไม่บิดเบือนข้อมูล (falsification) หรือสร้างข้อมูลเท็จ (fabrication) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิจัยตามที่ตนต้องการหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
ข้อ 14 ในการวิจัยที่มีเนื้อหาสาระกระทบถึงบุคคลอื่นไม่ว่าในทางเป็นคุณหรือเป็นโทษ นักวิจัยจะต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงรอบด้าน การใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงเพียงแหล่งเดียวย่อมไม่เป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย
ในการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีเนื้อหากระทบถึงบุคคลอื่นตามวรรคหนึ่ง นักวิจัยต้องนำเสนอโดยปราศจากอคติ ไม่ชี้นำไปในทางที่นักวิจัยต้องการ
ข้อ 15 นอกจากต้องปฏิบัติตามจริยธรรมของนักวิจัยตามระเบียบนี้แล้ว ที่ปรึกษาโครงการวิจัยต้องไม่แทรกแซง หรือครอบงำทางความคิดของนักวิจัย
ที่ปรึกษาโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อาจมีส่วนร่วมในผลงานวิจัยได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบ และต้องไม่นำเสนอผลงานวิจัยในฐานะผู้นิพนธ์หลัก
ข้อ 16 นักวิจัยต้องใช้ความรู้ตามหลักวิชาการและวิชาชีพ ดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบและเป็นไปตามระเบียบแบบแผนวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่วิจัย มาตรฐานการวิจัยที่เกี่ยวข้องและอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัยอย่างถูกต้อง
ข้อ 17 นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ มีความรู้ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย
เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิจัย ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ช่วยวิจัยและนักวิจัยที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอผลงานเพื่อขอรับปริญญาสาขาใดสาขาหนึ่ง
ข้อ 18 นักวิจัยต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากการรับทุนสนับสนุนงานวิจัยในลักษณะที่ซ้ำซ้อนสำหรับงานวิจัยเรื่องเดียวกันหรือมีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่การวิจัยนั้นใช้เงินทุนสนับสนุนจากหลายแหล่งและนักวิจัยได้แจ้งให้ผู้ให้ทุนทุกรายทราบว่ามีการขอทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่นสำหรับการวิจัยนั้นด้วย ในการนำเสนอผลงานวิจัย นักวิจัยต้องนำเสนอรายชื่อผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทุกราย
ข้อ 19 นักวิจัยต้องไม่ดำเนินการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการทำวิจัย
นักวิจัยต้องแจ้งให้ผู้ให้ทุนและคณะกรรมการทราบในกรณีที่ตนเองมีส่วนได้เสียเป็นส่วนตัวในการวิจัยนั้น
บุคคลอาจคัดค้านนักวิจัยว่ามีส่วนได้เสียเป็นส่วนตัวในโครงการวิจัยนั้น
เมื่อมีกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้คณะกรรมการวินิจฉัยให้เสร็จภายในหกสิบวันและให้นักวิจัยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
ข้อ 20 การรับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้หรือไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ของนักวิจัยเพื่อให้ผลการวิจัยเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคล นิติบุคคล หรือพรรคการเมืองใดถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่นักวิจัย
ข้อ 21 นักวิจัยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงต่อหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและหน่วยงานที่ตนสังกัด
ข้อ 22 นักวิจัยต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัยหรือใช้ในการศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตอื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิ่งอื่นใด
ข้อ 23 การจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลการวิจัย นักวิจัยต้องเลือกตัวอย่างและวิธีการให้เป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย การดำเนินการและสรุปผลการวิจัยต้องกระทำโดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ
ข้อ 24 นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
ข้อ 25 นักวิจัยต้องไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปใน
ทางมิชอบ
ข้อ 26 เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการวิจัย หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้นักวิจัยจ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำการวิจัยและนำผลงานนั้นมาใช้เป็นผลงานของตน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
ห้ามมิให้นักวิจัยรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร
ข้อ 27 นักวิจัยต้องนำผลงานวิจัยเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้างเพื่อประโยชน์ทางนโยบาย วิชาการ เศรษฐกิจและสังคม เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเปิดเผยผลการวิจัยตามระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการแจ้ง การนำส่ง การเชื่อมโยงข้อมูล การรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการเปิดเผยข้อมูลการวิจัยในระบบข้อมูลสารสนเทศกลาง
ข้อ 28 หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ควบคุมการวิจัย ต้องกำกับดูแลการทำวิจัยให้เป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย
ข้อ 29 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย” ประกอบด้วย
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นกลาง และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเรื่องจริยธรรมคนหนึ่งซึ่ง กสว. แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่ง กสว. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ด้านการส่งเสริมจริยธรรม ด้านกฎหมาย ด้านการบริหารงานบุคคล หรือด้านอื่นใดอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้จำนวนไม่เกินสองคน
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่ กสว. กำหนด
การประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบการที่คณะกรรมการกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ คณะกรรมการอาจมีมติให้เชิญผู้แทนที่ทำหน้าที่บริหารงานรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านจริยธรรมให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้นแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ข้อ 30 คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อ กสว. ในการจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัยตลอดจนมาตรการในการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย
(2) เสนอแนะต่อ กสว. ในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงจริยธรรมการวิจัยทั่วไปตามที่กำหนดในระเบียบนี้
(3) เสนอต่อ กสว. เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ มาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนและการบังคับใช้จริยธรรมการวิจัยทั่วไป
(4) กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัยและให้ความเห็นต่อรายงานประจำปีของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับจริยธรรมทั่วไปและมาตรฐานการวิจัย
(5) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัยแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง
(6) พิจารณาและวินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัยตามระเบียบนี้ และรายงานต่อ กสว.
(7) จัดให้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัย
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบนี้ หรือตามที่ กสว. มอบหมาย
ข้อ 31 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่ออปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำระเบียบการการประชุมของคณะกรรมการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 32 กรณีที่โครงการวิจัยใดมีข้อสงสัยว่าอาจขัดหรือไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมการวิจัยทั่วไปหรือมาตรฐานการวิจัย ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ให้ทุน ผู้รับทุน หรือนักวิจัย อาจเสนอโครงการวิจัยนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ
(2) สำนักงาน หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ผู้มีส่วนได้เสียอาจเสนอเรื่องนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ
การพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเรื่อง และอาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน โดยต้องแสดงเหตุผลในการขยายระยะเวลา และเมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วให้แจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ที่แจ้งและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 33 ในกรณีที่ปรากฏว่านักวิจัย ที่ปรึกษา ผู้ให้ทุน หรือผู้รับทุนใดมีการดำเนินงานที่ขัดหรือไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมการวิจัยทั่วไปหรือมาตรฐานการวิจัย ผู้พบเห็นหรือทราบการดำเนินงานที่ขัดหรือไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมการวิจัยทั่วไปหรือมาตรฐานการวิจัยอาจเสนอเรื่องนั้นให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยได้
ในการพิจารณาเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเรื่อง และอาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน โดยต้องแสดงเหตุผลในการขยายระยะเวลา และเมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วให้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอเรื่องทราบ
ข้อ 34 ในการพิจารณาเรื่องตามระเบียบนี้ หากคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีมูลการกระทำที่ขัดหรือไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมทั่วไปหรือมาตรฐานการวิจัย ให้คณะกรรมการมีมติให้ยุติเรื่องและแจ้งให้ผู้เสนอเรื่องทราบ
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีมูลการกระทำที่ขัดไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมทั่วไปหรือมาตรฐานการวิจัย ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้กระทำการดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยให้ระบุข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและระเบียบ ตลอดจนเหตุผลที่แสดงมูลความผิด และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ถูกกล่าวหา
คณะกรรมการต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง แสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาตามสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมชี้แจงพร้อมผู้ถูกกล่าวหา และช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาได้ตามสมควร
ข้อ 35 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ระบุข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและระเบียบ รวมทั้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ในกรณีที่มีความเห็นแย้งของกรรมการเป็นลายลักษณ์อักษร ให้แนบความเห็นแย้งนั้นไว้กับคำวินิจฉัยและให้แจ้งคำวินิจฉัยนั้นต่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสนอเรื่องและรายงานให้ กสว. ทราบ
คำอุทธรณ์คำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อ กสว. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
ข้อ 36 ในการพิจารณาเรื่องตามข้อ 32 หรือข้อ 33 ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เชิญผู้เสนอเรื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย หรือบุคคลใดมาให้ความเห็นหรือข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณา
(2) ตรวจสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในโครงการวิจัยที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ
(3) สั่งให้ผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยหยุดการดำเนินการวิจัยไว้ชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการจะวินิจฉัยเรื่องนั้นแล้วเสร็จ
ข้อ 37 ในกรณีที่มีการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยทั่วไปหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย ให้ดำเนินการดังนี้
(1) มีคำสั่งให้ผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยหยุดการดำเนินการดังกล่าว และกำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยา
(2) ขึ้นบัญชีผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยที่ประพฤติผิดจริยธรรมหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการให้ทุนในโอกาสต่อไป
(3) แจ้งให้สำนักงาน ผู้ให้ทุน ผู้รับทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยทราบเพื่อดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการอื่นต่อไป
ข้อ 38 ในกรณีที่ผลงานวิจัยกระทำโดยฝ่าฝืน ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 19 ข้อ 20 หรือข้อ 26 คณะกรรมการอาจมีมติให้ดำเนินการตามลักษณะและความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดจริยธรรมดังนี้
(1) ถอดถอนผลงานวิจัย (retraction)
(2) ประกาศการกระทำผิดดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป
(3) ดำเนินการอื่นตามที่ กสว. ประกาศกำหนด
วิธีดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ข้อ 39 ให้ผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการโดยพลัน
ในกรณีที่ผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัยหรือที่ปรึกษาโครงการวิจัยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการแจ้งให้ กสว. และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และให้ประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปด้วย
ข้อ 40 ให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมจัดทำรายงานการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการปีละหนึ่งครั้งตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 41 ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำรายงานการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัยของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมเสนอต่อ กสว. ปีละหนึ่งครั้ง
ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ศาสตราจารย์กิตติคุณสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ
ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม