ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

ข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 

วันประกาศ : -
วันใช้บังคับ : 18 พฤศจิกายน 2564
สถานะ : มีผลบังคับใช้
ประเภท : ข้อกำหนด

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • ข้อกำหนดสภาเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษา

ข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 

โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (9) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบกับมติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติจึงออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ 

ข้อ 1  ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐาน 
การอุดมศึกษา พ.ศ. 2564” 
ข้อ 2  ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  
ข้อ 3  ในข้อกำหนดนี้ 

“สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถาบันที่จัดการอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดของกระทรวง และหมายความรวมถึงส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวด้วย 

“มาตรฐานการอุดมศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ และเกณฑ์อื่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตรการศึกษา และข้อกำหนดขั้นต่ำของเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา 

“ข้อเสนอการจัดการศึกษา” หมายความว่า ข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาจัดทำเพื่อเสนอขออนุมัติ 

“สภานโยบาย” หมายความว่า สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 

“กระทรวง” หมายความว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ข้อ 4  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ ให้ประธานสภานโยบาย 
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวให้ถือ 
เป็นที่สุด  

ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง สภานโยบายอาจมีมติด้วยคะแนนเสียงเกิน 
กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้งดใช้ข้อกำหนดนี้ได้ 

ข้อ 5  สถาบันอุดมศึกษาอาจขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนดไว้ก็ได้ โดยต้องดำเนินการตามข้อกำหนดนี้  

ให้นำความในวรรคหนึ่งไปใช้บังคับแก่การที่กระทรวงขอให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนดไว้ด้วย 

ข้อ 6 การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาแบบปริญญาที่มาจากการเทียบโอนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่มุ่งปริญญา และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่อื่น ๆ  

การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และต้องให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะและทักษะที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง 

ข้อ 7  ในกรณีที่กระทรวงขอให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐาน 
การอุดมศึกษาที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนดไว้ กระทรวงอาจสนับสนุนงบประมาณเพื่อ 
การจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาด้วยก็ได้ 

ข้อ 8  ให้สถาบันอุดมศึกษาที่ประสงค์จะจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ยื่นข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการต่อกระทรวงเพื่อขอรับการพิจารณา โดยข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการต้องได้รับการเห็นชอบจากอธิการบดี และมีรายละเอียดอย่างน้อย ประกอบด้วย สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น ข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการขอยกเว้น วัตถุประสงค์ หน่วยงานผู้รับผิดชอบของสถาบันอุดมศึกษา แนวคิดวิธีการจัดการเรียนการสอน หน่วยงานร่วมและบทบาทความรับผิดชอบ ระยะเวลาการดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และผลที่คาดว่าจะได้รับ

ข้อ 9  ให้กระทรวงพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการ และแจ้งผลการพิจารณาและข้อเสนอแนะแก่สถาบันอุดมศึกษาภายในหกสิบวัน นับจากวันที่ได้รับข้อเสนอการจัดการศึกษาเชิงหลักการ 

ข้อ 10  ให้สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบข้อเสนอการจัดการศึกษาตามข้อ 9 จัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษา และเสนอขอรับการพิจารณาต่อสภานโยบายผ่านกระทรวง โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้ 

(1) สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น พร้อมระบุข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษา 
ที่ต้องการขอยกเว้น 
(2) วัตถุประสงค์ 
(3) ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน 
(4) สถาบันอุดมศึกษา และคณะผู้รับผิดชอบ 
(5) รายละเอียดหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ได้แก่ ชื่อหลักสูตร ชื่อปริญญา ระบุจำนวนบัณฑิตที่จะผลิต วิธีการคัดเลือกผู้เข้าศึกษา โครงสร้างหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปี ผลลัพธ์ที่คาดหวังในแต่ละช่วงของการเรียนการสอน และผู้รับผิดชอบหลักสูตร 
(6) หน่วยงานร่วมดำเนินการ (สถาบันอุดมศึกษาอื่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานในต่างประเทศ) และบทบาทความรับผิดชอบ  
(7) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บัณฑิตจากการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา 
(8) ระยะเวลาดำเนินการ โดยให้ระบุระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการดำเนินการที่แน่นอน ระบุจำนวนรุ่นของบัณฑิตที่จะผลิต และระยะเวลาที่จะใช้ดำเนินการในแต่ละรุ่น ทั้งนี้ การดำเนินการจริงอาจสิ้นสุดก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ได้ และให้ระบุระยะเวลาของการประเมินผลหลังสำเร็จการศึกษา 
(9) งบประมาณและแหล่งงบประมาณ  
(10) ความพร้อมด้านทรัพยากรในการจัดการศึกษา 
(11) แนวทางการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องจัดให้มีระบบหรือกลไกสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาของหลักสูตร ทั้งนี้ การสำรวจความพึงพอใจ สามารถครอบคลุมถึงกรณีที่บัณฑิตทำงานในองค์กร ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นผู้ประกอบการด้วยก็ได้
(12) ผลที่คาดว่าจะเกิดกับสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ หรือองค์กรที่ร่วมจัดการศึกษา 

ข้อ 11  ให้กระทรวงเสนอสภานโยบายพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ของสถาบันอุดมศึกษา ในการนี้ สภานโยบายอาจกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานร่วมดำเนินการถือปฏิบัติด้วยก็ได้  

ให้กระทรวงประกาศผลการพิจารณาและมีหนังสือแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาทราบ 

ประกาศตามวรรคสองต้องระบุเงื่อนไขที่สภานโยบายกำหนด และรายชื่อคณะผู้ประเมินผลอิสระของสถาบันอุดมศึกษานั้น 


ข้อ 12  ให้สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศให้สาธารณชนและผู้เรียนรับทราบว่าการจัดการศึกษาดังกล่าวเป็นการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา 


ข้อ 13  ให้สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษารายงานผลความก้าวหน้าการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานอุดมศึกษาต่อกระทรวงอย่างน้อยปีละสองครั้ง 


เมื่อเสร็จสิ้นการจัดการศึกษาดังกล่าว ให้สถาบันอุดมศึกษารายงานผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาต่อกระทรวงภายในเก้าสิบวันนับแต่สิ้นสุดการจัดการศึกษา และรายงานผลลัพธ์และผลกระทบการจัดการศึกษาต่อกระทรวงต่อไปอีกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเป็นระยะเวลาสองปี  

ข้อ 14  ให้กระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาร่วมกันพัฒนาและจัดให้มีกลไกและมาตรการในการกำกับติดตามและประเมินผล และพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา 

ข้อ 15  คณะผู้ประเมินผลอิสระมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎข้อบังคับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภานโยบายกำหนด และรายงานให้กระทรวงทราบอย่างน้อยปีละสองครั้ง 

ข้อ 16 คณะผู้ประเมินผลอิสระมีหน้าที่ประเมินผลการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาตามที่กระทรวงกำหนดปีละหนึ่งครั้ง 

เมื่อครบระยะเวลาดำเนินการจัดการศึกษาตามที่ได้รับอนุมัติจากสภานโยบาย คณะ 
ผู้ประเมินผลอิสระมีหน้าที่ประเมินผลและจัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณาเสนอกระทรวงเพื่อนำเสนอ 
สภานโยบายต่อไป 

รายงานการประเมินผลตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้มีสาระสำคัญตามที่กระทรวงกำหนด 

ข้อ 17  ในกรณีที่กระทรวงเห็นว่าการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาใด มิได้เป็นตามแนวทางที่ได้รับการอนุมัติ หรือมิได้เป็นตามแนวทางของข้อกำหนดฉบับนี้ในสาระสำคัญ ให้กระทรวงแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษานั้นทราบและเร่งปรับปรุงการจัดการศึกษาให้สอดคล้องภายในระยะเวลาที่กระทรวงกำหนด 

ในระหว่างการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หากกระทรวงเห็นว่า 
การจัดการศึกษาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุผล กระทรวงอาจเสนอต่อสภานโยบายเพื่อให้สั่งยุติการจัดการศึกษาดังกล่าว ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ และอาจจัดให้มีการเยียวยาหรือช่วยเหลือผู้เรียนตามสมควร และให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานเสนอต่อกระทรวงภายในหกสิบวัน 

การสั่งยุติการจัดการศึกษาตามวรรคสองไม่กระทบถึงผลการศึกษาของผู้เรียนซึ่งผ่านการศึกษามาแล้วก่อนการสั่งยุติการจัดการศึกษา 

ข้อ 18  ให้กระทรวงรายงานผลความก้าวหน้าการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาต่อสภานโยบายอย่างน้อยปีละสองครั้ง 

เมื่อสถาบันอุดมศึกษาได้ดำเนินการจัดการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ให้กระทรวงรายงานผลการจัดการศึกษา ข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานอุดมศึกษา และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษาต่อสภานโยบาย 

ข้อ 19  ให้กระทรวงมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติในดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาตามข้อกำหนดนี้ รวมถึงการส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกระทรวง  

ประกาศ ณ วันที่          กันยายน พ.ศ. 2564

(นายดอน ปรมัตถ์วินัย) 

รองนายกรัฐมนตรี 

ประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ