ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

สภานโยบายฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 65 จำนวน 117,880 ลบ. เตรียมชง ครม. ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ผลิตกำลังคนระดับสูงตามทิศทางความต้องการประเทศ ด้าน อว. แจงความก้าวหน้าการใช้ศักยภาพ อววน. แก้ปัญหาโควิด-19 และสร้างโอกาสให้กับประเทศหลายมิติ

อ่าน : 150 ครั้ง
05 มีนาคม 2021

สภานโยบายฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 65 จำนวน 117,880 ลบ. เตรียมชง ครม. ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ผลิตกำลังคนระดับสูงตามทิศทางความต้องการประเทศ ด้าน อว. แจงความก้าวหน้าการใช้ศักยภาพ อววน. แก้ปัญหาโควิด-19 และสร้างโอกาสให้กับประเทศหลายมิติ

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุมคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุมคนที่สอง

การประชุมสภานโยบายฯ ครั้งนี้ มีการหารือในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ กรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวมทั้งหารือวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) บทบาทของ อววน. ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทย การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา การแต่งตั้งประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา และประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายสำคัญ 3 เรื่องให้กับที่ประชุม เรื่องแรก โมเดลเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BCG  ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้เน้นว่า สภานโยบายฯ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการนำ BCG ไปปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด เพราะ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน (multi-stakeholders) ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม   ซึ่งรวมถึงภาควิชาการ และภาคต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายและเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาในยุคหลังโควิด-19 ได้  

นอกจาก BCG จะเป็นวาระแห่งชาติของไทยแล้ว ไทยยังผลักดันการใช้ประโยชน์จาก BCG ในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของปีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ไทยได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ดำเนินงานแทนอาเซียนในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ BCG เป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกหนึ่ง เพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 รวมทั้งจะผลักดันเรื่อง BCG ในเวทีระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ ที่ไทยจะเป็นประธานในระยะต่อไปด้วย อาทิ กรอบ BIMSTEC และ APEC

เรื่องที่สอง บทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ จึงทำให้รับมือกับโควิด-19 ได้ดี ซึ่งเกิดจากการ  สั่งสมและพัฒนามาต่อเนื่องยาวนาน จึงมอบนโยบายให้สภานโยบายฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะการวางรากฐานองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลด้านยาและวัคซีนที่ต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด และการเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายด้านความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต เช่น เรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ และสังคมผู้สูงอายุ

เรื่องสุดท้ายคือ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการอุดมศึกษา ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา จนขณะนี้การลงทุนด้าน R&D ของไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP และงบประมาณในด้านการอุดมศึกษาก็ได้รับความสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนในด้านเหล่านี้จะต้องช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศเผชิญกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้าหลังโควิด การเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมนุษย์ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูและทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงขอให้ยังเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้วยว่า ควรจะต้องสร้าง “คน” ที่มีคุณภาพทั้งความรู้ รองรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรม  

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นกรรมการของสภานโยบายฯ โดยตำแหน่งด้วย พร้อมทั้งที่ประชุมสภานโยบายฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

เคาะกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวนวงเงินทั้งสิ้น 117,880 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทงบประมาณที่สอดคล้องกับมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,427 ล้านบาท (ร้อยละ 60) งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 38,653 ล้านบาท (ร้อยละ 33) และได้จัดให้มีงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 8,800 ล้านบาท (ร้อยละ 7) รวมถึงที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ปี 64 เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ บทบาทของ อววน. ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของ  โควิด-19 และความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก ยังได้เปิดเผยถึง 3 ประเด็นสำคัญที่ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย
1. การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งกระทรวง อว. โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และให้ทุกหน่วยงานพิจารณากำหนด และดำเนินแผนงาน โครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 ตลอดจนได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อน BCG ระดับนานาชาติ ผ่านการให้ประเด็น BCG เป็นหนึ่งสารัตถะของการเตรียมการสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี พ.ศ. 2565

2. บทบาทของ อววน. ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จนถึงการระบาดระลอกใหม่ของประเทศไทย อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศปก.ศบค. ได้มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวง อว. ทั้งด้านวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันวิจัยทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา โดยบทบาทสำคัญในการบริหารสถานการณ์การระบาดของ โควิค-19 อว. ได้ให้การสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และจังหวัด การจัดเตรียมเวชภัณฑ์และสถานที่ของโรงพยาบาลและสถานศึกษาเพื่อรองรับการเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์กว่า 20 แห่ง และสถาบันการอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าตรวจคัดกรองในเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด เช่น ในจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมการตรวจคัดกรองเป้าหมาย 70,000 รายในหนึ่งสัปดาห์ ดำเนินการโดย เครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือ UHosNet ร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนส่งมอบนวัตกรรมทางการแพทย์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ อาทิ ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด–19 มีการติดตาม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และสนับสนุนข้อมูล ศบค. ด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์สำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ และการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 อาทิ รายงานผลการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละประเทศทั่วโลก การประเมินการใส่หน้ากากอนามัยจากเทคโนโลยีเอไอเพื่อวิเคราะห์การใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผลการวิจัยและพัฒนาของ อว. การนำงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาร่วมบริหารสถานการณ์ และมาตรการต่างๆ ของ ศบค. เพื่อช่วยส่งเสริมมาตรการภาครัฐและมาตรการสาธารณสุขในด้านต่างๆ และมีผลสำเร็จของงานวิจัยส่งมอบให้แก่หน่วยงานใช้ประโยชน์แล้วอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีบทบาทในการตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากผ้า ชุด PPE ชุด Surgical Gown และ ชุด Cover-all โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ และความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่างข้อกำหนดคุณลักษณะของ PAPR สำหรับใช้ทางการแพทย์

3. บทบาทของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 ขึ้น เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ในปี พ.ศ. 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้มีการดำเนินงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 1) การพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน โดยกำหนดก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 และติดตั้งเครื่องโทคาแมคซึ่งเป็นความร่วมมือกับประเทศจีน ที่จะพร้อมเดินเครื่องครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค 2) การพัฒนาเครื่องไซโครตรอนเพื่อการแพทย์และการวิจัย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับประเทศรัสเซีย โดยการพัฒนาเครื่องดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนสารเภสัชรังสีเพื่อการแพทย์ที่จะมาช่วยตรวจและรักษามะเร็งระบบประสาท มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งเต้านม วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วินิจฉัยต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทั้งการวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบ การวิเคราะห์การสึกกร่อนของวัสดุ การพัฒนาวัสดุใหม่ ด้านการเกษตรจะช่วยสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์พืช รังสีกับชีววิทยา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารรองรับเครื่องไซโคลตรอน และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องไซโคล ตรอนพร้อมเดินเครื่องในปี พ.ศ. 2564 3) การพัฒนาโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเรื่อง EHIA และเตรียมข้อมูลเพื่อการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา
ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ได้ร่วมกันจัดทำรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา โดยกองทุนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสาขาใหม่ๆ และพัฒนาสังคมและชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของประเทศ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานของการอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษา โดยเชื่อมโยงการเรียนการสอน การวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับนักวิชาการ สถาบันวิชาการและองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนมุ่งเป้าให้เกิดระบบนวัตกรรมการพัฒนากำลังคนและบุคลากรทุกช่วงวัยเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรของประเทศอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ที่ประชุมสภานโยบายฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา และมอบหมายกระทรวง อว. ดำเนินการเสนอกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีต่อไป

ปี 63 งบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรลุผล รับมือโควิด-19 และตอบโจทย์การพัฒนาหลายมิติ
ปลัดกระทรวง อว. ยังได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อพัฒนาประเทศ ปี พ.ศ. 2563 ที่ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้นำไปใช้ตอบโจทย์ของการพัฒนาที่ครอบคลุมในหลายมิติ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 อาทิ การวิจัยด้านการแพทย์ เช่น ชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโควิด-19 วัคซีน ชุด PPE หน้ากาก N95 เครื่องช่วยหายใจ การวิจัยด้านผลกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตของประชาชน การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก / เศรษฐกิจชุมชน ในด้านการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนาเลเซอร์แพทย์เพื่อโรคทางเม็ดสี เครือข่ายวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การยืดอายุการเก็บรักษา พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ พลังงานและวัสดุ นำขยะแบตเตอรี่ชนิดอัลคาไลน์ สังกะสีคาร์บอน มารีไซเคิลเพื่อพัฒนาเป็นแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้ โลจิสติกส์สมัยใหม่ พัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา ในด้านการแก้ปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น Zero Waste การรองรับสังคมสูงวัย การป้องกันการใช้ความรุนแรง การลด PM 2.5 ความปลอดภัยทางท้องถนน ในด้านการสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้สนับสนุน 659 นวัตกรรมชุมชน 321 ชุมชนนวัตกรรม (ตำบล) 1,902 นวัตกรรมชาวบ้าน 57 กลไกพัฒนาระดับพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและทดสอบยาและวัคซีนอย่างครบถ้วนและเป็นที่น่าเชื่อถือ

ปลดล็อกจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อจ้างที่ปรึกษา
นอกจากความก้าวหน้าในการส่งเสริม ววน. เพื่อพัฒนาประเทศแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม อย่างการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขข้อจำกัด สร้างระบบที่คล่องตัวและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งมีศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการ ได้เสนอหลักการร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ้างที่ปรึกษา ต่อสภานโยบายเพื่อพิจารณา โดยหลักการร่างประกาศดังกล่าวมุ่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการจัดจ้างที่ปรึกษาในวงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาทที่เดิมต้องใช้วิธีประกวดราคาซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน รวมทั้งต้องเลือกผู้เสนอราคาต่ำที่สุด และต้องจ้างจากรายชื่อหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง รวมถึงการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทำไม่ได้เพราะเงื่อนไขของกฎหมายไทยไม่สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติทางการค้า เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น 1) เสนอให้มีคณะกรรมการพัสดุที่สภานโยบายแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกลาง 2) มีหลักเกณฑ์กลางมาตรฐานกลางในการจ้างที่ปรึกษาสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ไม่สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ. 2561 3) วิธีการจัดจ้างที่ปรึกษา วิธีเฉพาะเจาะจง ไม่เกิน 5 ล้านบาท และสามารถใช้ข้อมูลที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือบัญชีรายชื่อที่ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กรณีที่ปรึกษาต่างประเทศให้พิจารณาจากผลงานได้ 4) การวางหลักประกันและจ่ายเงินล่วงหน้า โดยการจ้างไม่เกิน 1 ล้านบาทไม่ต้องวางเงินหลักประกันร้อยละ 5 การจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ กรณีจำเป็นให้เป็นไปตามประเพณีทางการค้า 5) อำนาจสั่งจ้าง ที่หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจในวงเงิน 100 ล้านบาท หากเกินวงเงินเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการกำกับหน่วยงาน หรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปหนึ่งขั้น ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ สอวช. ส่งร่างประกาศดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพิจารณา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป