(15 กันยายน 2564) สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เป็นรองประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวงฯ หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงระเบียบวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับระเบียบวาระแห่งชาติ บีซีจี โมเดล เป็นอย่างมาก และยังยกให้เป็นหัวข้อในการประชุม APEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า ซึ่งกระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ ทั้งการพัฒนาประเทศสู่ Carbon Neutrality ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี รวมถึงการสื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านออกจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะเป็นคานงัดสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน รวมไปถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนสูงขึ้น โดยหลังจากที่ที่ประชุมเห็นชอบต่อข้อเสนอการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้าน เพื่อเปลี่ยนสถานะ เป็นองค์การมหาชน แล้วนั้น ได้มอบหมายให้ สอวช. ดำเนินงานแบบคู่ขนานเพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งองค์การมหาชน และให้รายงานที่ประชุมสภานโยบายทราบความก้าวหน้าเป็นระยะ
สำหรับความก้าวหน้าระเบียบวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG)ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าระเบียบวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ซึ่ง อว. โดย สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการบริหารฯ ได้จัดทําร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบการทํางานสําหรับหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืนและได้นําเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ต่อสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยหน่วยงานต่าง ๆ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model รายสาขา ได้แก่ 1. การพัฒนาประเทศสู่ Carbon Neutrality ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ได้มีการหารือแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) หารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อกําหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 จากกรณีปกติภายในปี 2573 ให้ท้าทายมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สํานักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) หารือเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์การซื้อขายคาร์บอนในประเทศและมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างประเทศ 2. การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อว.โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ของ สวทช. และ ทส. โดย กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนหน่วยงานในยุคดิจิทัลและ BCG Model” ด้วยการใช้ Big DATA จัดการท่องเที่ยวอุทยานธรณีหนุนเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน นอกจากนี้ สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่ 10 จังหวัดในภาคเหนือ ในกลุ่มเสื้อผ้าและสิ่งทอ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการและส่งเสริมการออกตลาดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ“ไทยช้อป SMEs ไทย 2021” BCG Connext เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 สําหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG 3. การสื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย อว. และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแบบ Social Movement อาทิ www.facebook. com/BCGinThailand และ https://twitter.com/ BCGinThailand เพื่อนําเสนอความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ BCG ของประเทศไทย รายการ “โฆษก อว” ของกระทรวง อว. รายการโทรทัศน์ The next คลื่นอนาคต รายการ Spokesman ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงวารสารภาษาอังกฤษ โดย บีโอไอ เป็นต้น
แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และให้เพิ่มเติมข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนแผนการผลิตกำลังคนที่ต้องมีความชัดเจนในการผลิตและใช้ประโยชน์ และการตั้งเป้าหมายแผนให้มีความท้าทายมากขึ้น
“การจัดทำแผนทั้งด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องมีการจัดทำแผนที่เพิ่มความท้าทาย ตั้งเป้าหมาย มีสิ่งเดิมพันให้ชัดว่า เมื่อสิ้นสุดปี 2570 แผนดังกล่าวจะช่วยขยับให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ ซึ่งเมื่อตั้งเป้าหมายเช่นนี้ ทั้งแผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ต้องเป็นแผนของประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าว
สำหรับแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทบทวนและปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ให้สอดรับกับบริบทสังคมที่สําคัญในช่วงการพัฒนา พ.ศ. 2566 – 2570 และกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 โดยจัดทําคู่ขนานไปกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อให้เกิดการบูรณาการภาพแนวคิดระหว่างอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงปรับกลไกงบประมาณทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและมีความคล่องตัว โดยสามารถถ่ายทอดไปสู่แผนปฏิบัติราชการ และการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปี ทั้งนี้ กระบวนการทบทวนแผนได้ดําเนินการเสร็จสิ้นและจัดทําเป็นแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและแผน
โดยยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา เป็นการพัฒนาอุดมศึกษาระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน ประกอบด้วย การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและสมรรถนะของกําลังคน และการสร้างเสริมบุคลากร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) ประกอบด้วย การวิจัย นวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือปัจจัยเอื้อภายในสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation ประกอบด้วย การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา และการอุดมศึกษาดิจิทัล ทั้งนี้ ได้กำหนดหมุดหมายของการพัฒนาการอุดมศึกษา ระยะ 5 ปี จาก 3 ยุทธศาสตร์ข้างต้น ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 การอุดมศึกษาเป็นปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 โดยตั้งเป้า ด้านกําลังคน องค์ความรู้ และกลไกหลักในระบบอุดมศึกษาจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี พ.ศ. 2566 เกิดความเข้มแข็งทางนิเวศอุดมศึกษาสู่การผลักดันภาคเศรษฐกิจและสังคม ภายในปี พ.ศ. 2567 และเกิดศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2568 สำหรับช่วงที่ 2 การอุดมศึกษาเพื่อความยั่งยืนของไทย โดยตั้งเป้าให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอุดมศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ ภายในปี พ.ศ. 2569 และการอุดมศึกษาและสังคมไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2570
นอกจากแผนด้านการอุดมศึกษาแล้ว ที่ประชุมยังได้นำเสนอแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นํากรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 มาจัดทํา (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมกับจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการจัดประชุมเพื่อพิจารณา Objective and Key Results (OKRs) ของแผนงานร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน ที่เกี่ยวข้องเพื่อนําไปสู่การร่วมขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากําลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ซึ่งแผนดังกล่าวมีเป้าประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูง เพียงพอในการพลิกโฉมประเทศให้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก และพึ่งพาตนเองได้ ยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต ตลอดจนมีเป้าหมายให้สังคมไทย มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ปัญหาท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก
แนวทางการขับเคลื่อนการดําเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะกรรมการและเลขานุการของ สนอว. เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนอว. ยังได้เห็นชอบต่อแนวทางการขับเคลื่อนการดําเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนบ่มเพาะผู้ประกอบการและเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น โดยดําเนินการต่อเนื่องมาจนมีการจัดตั้งกระทรวง อว. และออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการใน สป.อว. ซึ่งมีผลให้อุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ สป.อว. ทาง สป.อว. จึงได้จัดทําแนวทางการขับเคลื่อนการดําเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคกําหนดให้ สป.อว. ทําหน้าที่เป็น Commissioning Body ในภาพรวมของการดําเนินงาน และกําหนด Strategic Position ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาค และระดับประเทศ เป็นกลไกในการเชื่อมโยงธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและธุรกิจในมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยกําหนดบทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคให้เป็นกลไกของกระทรวง อว. ในระดับภาคเชื่อมโยงการทํางานร่วมกับโครงการและหน่วยงานอื่นเพื่อตอบโจทย์คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และการพัฒนาระดับพื้นที่ภายใต้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและยกระดับการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะเป็นกลไกการทํางานในรูปแบบใหม่รองรับการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและการจัดตั้งกระทรวง อว. เพื่อกําหนดบทบาทภารกิจและความรับผิดชอบของหน่วยงานใน อว. ให้มีความชัดเจน รวมทั้งเป็นแนวทางในการสร้างศักยภาพให้บุคลากร และยกระดับการให้บริการทั้งองค์ความรู้และการประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งเป็นแนวทางในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้มีมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย
โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2570 (ดําเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2570)
นอกจากนี้ ที่ประชุมสภานโยบาย ยังได้มีการพิจารณาโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 (ระยะที่ 1) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดําเนินการ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 โดยการดําเนินการมีความก้าวหน้ามาโดยตลอด โดยโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเป็นโครงการที่จัดทําขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ของประเทศแม้จะมีการผลิตแพทย์เพิ่มทั้งในภาครัฐและเอกชนก็ยังไม่เพียงพอ และการผลิตแพทย์ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้มาก โดยโครงการมีเป้าหมายเพื่อขยายศักยภาพการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศรองรับสังคมผู้สูงอายุและความซับซ้อนของโรคในอนาคต รวมถึงเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาการกระจายแพทย์สู่ชนบท ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อผลิตแพทย์ให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้น จํานวน 13,318 คน แบ่งเป็น โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ อว. จํานวน 6,586 คน และโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ สธ. จํานวน 6,732 คน โดยจะรับนักศึกษาจํานวนทั้งสิ้น 6 รุ่น (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 -2570) เพื่อผลิตแพทย์ให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ 1 : 1,200 และกระจายแพทย์ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อโครงการดังกล่าว โดยทาง สป.อว. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจะได้นําเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการดําเนินโครงการและกรอบงบประมาณดําเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) ต่อไป
ข้อเสนอการจัดระบบการบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ(ร่าง) ข้อเสนอรูปแบบการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านออกจาก สอวช.
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงข้อเสนอการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ออกจาก สอวช. และไปตั้งเป็นสำนักงานภายใต้ชื่อ “สํานักงานสนับสนุนและเร่งรัดผลสัมฤทธิ์การวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมและการพัฒนาเชิงพื้นที่” (วอพ.) เป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานโยบาย โดยให้ดําเนินงานในรูปแบบ Sandbox เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งผลการดําเนินงานที่ผ่านมาประสบความสําเร็จด้วยดี สอวช. จึงได้จัดทําข้อเสนอฯ เพื่อเปลี่ยนสถานะหน่วยงานบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้าน เป็นองค์การมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการจัดทําข้อเสนอฯ เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตและเข้มแข็ง ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านใหม่ และการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีทั้งที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการสร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการสนับสนุนทุนและบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต บริการ ชุมชน และท้องถิ่น
“การแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนออกจาก สอวช. ไปเป็นสำนักงาน นอกจากการบรรลุเป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่กําหนดไว้ในกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเกิดผลเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมในเวลาตามที่กําหนดแล้ว คาดว่าจะเกิดผลลัพธ์ในการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการวิจัย รวมไปถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนสูงขึ้น (เป้าหมายร้อยละ 2 ของ GDP ในปี 2570) และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย พัฒนาให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัย ในการใช้กระบวนการการวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าให้กับประเทศ รองรับอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อสร้าง Growth Engine ชุดใหม่ รองรับการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดทั้ง Value-chain ของ Sector สําคัญตามยุทธศาสตร์และความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม สร้างงาน รายได้ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สร้างผลกระทบจากการบริหารและจัดการทุนผ่านโปรแกรม/แผนงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Funding) โดยการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลให้เกิดประโยชน์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนออกจาก สอวช. และการติดตามและประเมินผลการดําเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ พร้อมมอบหมายให้ สอวช. จัดทําพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานกําหนดสนับสนุนและเร่งรัดผลสัมฤทธิ์การวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมและการพัฒนาเชิงพื้นที่ และข้อเสนอตามแบบการขอจัดตั้งองค์การมหาชน เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (อ.กพม.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมให้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมสภานโยบายทราบเป็นระยะ