ค้นหาข้อมูลและเอกสาร ล้างตัวกรอก

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562

10:00 น.
19 สิงหาคม 2562
ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันที่ : 19 สิงหาคม 2562
เวลา : 10:00 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ดาวน์โหลดเอกสาร

  • ใบนำวาระสภานโยบาย 1/2562
  • สไลด์สภานโยบาย 1/2562

วาระการประชุม

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ
2.2 รายงานความก้าวหน้าการดาเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรอบวงเงินงบประมาณ

3.2 การแต่งตั้งประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา และประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสนอขอจัดสรรงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วาระลับ ประชุมเฉพาะกรรมการ)

3.3 การแต่งตั้งประธานกรรมการ และการดาเนินการของคณะกรรมการอานวยการสานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (วาระลับ ประชุมเฉพาะกรรมการ)

3.4 ร่างระเบียบสภานโยบายว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตาแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.....

3.5 โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

3.6 ร่างประกาศสภานโยบาย เรื่องการกาหนดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ

การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562

การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจะช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มรูปแบบและยั่งยืน มีสังคมที่มีคุณภาพ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งนับเป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ อว. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพันธกิจที่สำคัญของประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม การพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 การยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับสังคมสูงอายุ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการควบรวมหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับ “การอุดมศึกษา” และ “วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” เข้าด้วยกันในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการทำงานหนุนเสริมกัน (Synergy) อย่างมีประสิทธิภาพในหลายมิติ อาทิ

  • ใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาค เข้าถึงความรู้ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในเชิงพื้นที่ (Area-based) ผ่านสถาบันการศึกษาที่อยู่ในแต่ละภูมิภาค
    และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) มุ่งไปสู่เศรษฐกิจเน้นคุณค่า และลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้
  • มีการใช้ประโยชน์บุคลากร ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย รวมถึงบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีอาชีพ
    และเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม
  • เห็นภาพรวมการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรม นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
  • สร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา
    และสถาบันวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ทั้งชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวิจัย และนวัตกรรมขั้นแนวหน้า
  • บูรณาการการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ/อุปกรณ์เข้าด้วยกัน
  • ขับเคลื่อนระบบ อววน. ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องมีการวางกลไกกำกับดูแล
    การดำเนินงานอย่างชัดเจนในทุกด้าน ทั้งในเชิงนโยบาย การสนับสนุนการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตามประเมินผล

          สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2563 มีบทบาทหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้มีเอกภาพและเป็นระบบ ตลอดจนการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ และการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบ ดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภานโยบาย
  • รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภานโยบายคนที่หนึ่ง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธาน
    สภานโยบายคนที่สอง
  • กรรมการสภานโยบายโดยตำแหน่ง จำนวนสิบสามคน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • กรรมการสภานโยบายผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ด้านการอุดมศึกษาไม่เกินสามคน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่เกินสามคน และด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ไม่เกินสามคน โดยแต่ละด้านต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ร่วมกันเสนอด้านละหนึ่งคน
  • กรรมการสภานโยบายผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งหน่วยงาน
    ในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่มิใช่สถาบันอุดมศึกษาร่วมกันเสนอ
  • ให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ
    และให้ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สภานโยบาย มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 

  • เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
  • พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวง และงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน อววน. ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • กำกับให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน อววน.
  • เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการเร่งรัดและติดตามให้มีการเสนอหรือการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ อววน. เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เชื่อมโยง อววน. กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ และสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
  • เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการกำหนดมาตรการและแรงจูงใจทางการเงินการคลังและสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับการระดมทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนา อววน.
  • จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา รวมทั้งแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
  • กำกับ เร่งรัด และติดตามให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการอุดมศึกษา ฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา และฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการบูรณาการและการเชื่อมโยงกันระหว่างฐานข้อมูลดังกล่าว และประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน
  • แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง คณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานตามที่
    สภานโยบายมอบหมายหรือมอบให้ทำการแทน และรายงานให้สภานโยบายทราบ
  • ออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
  • เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับ อววน. ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นหรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562

สภานโยบาย อาจออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเรื่อง ดังนี้

  • การยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฏหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ
  • การนำส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูล และการรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรม
  • ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม  และการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
  • ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการพัฒนาเพื่อต่อยอดความรู้และเทคโนโลยี หรือการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่
  • ให้หน่วยงานของรัฐอาจร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562

สภานโยบาย อาจออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ หรือเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการอุดมศึกษาในเรื่อง ดังนี้

  • การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการปฏิบัติงานจริง และเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะอื่นให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
    • การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐกับฐานข้อมูลการอุดมศึกษา เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน
    • ให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันฯ จัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐาน
      การอุดมศึกษาได้

เรื่องเดิม

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19)
พ.ศ. 2562 และร่างพระราชบัญญัติประกอบการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวม 10 ฉบับ เมื่อวันที่ 1 และ 5 มีนาคม พ.ศ 2562 และลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในการนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 35/2562 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และคำสั่งที่ 58/2562 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นเลขานุการฯ ต่อมา คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562 ได้เสนอแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ 3 คณะ ดังนี้

คณะที่ 1 คณะทำงานกำกับการจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในสังกัด อว.
มีนายอุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ
การจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในกำกับของ อว. รวมไปถึงการจัดโครงสร้างส่วนราชการภายในกรมต่าง ๆ เป็นต้น

คณะที่ 2 คณะทำงานกำกับการเตรียมการจัดตั้ง อว. มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่กลั่นกรองการโอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน รวมไปถึงให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำตราสัญลักษณ์ เครื่องหมาย อาคารสถานที่ในการปฏิบัติงาน และการจัดทำคำขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 ของ อว.

คณะที่ 3 คณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ อว. มีนายศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำร่างกรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ แนวทางการจัดสรรและบริหารงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)รวมถึงศึกษาและจัดทำประเด็นปฏิรูปที่สำคัญด้าน อววน.

การดำเนินงาน

          คณะทำงานทั้ง 3 คณะ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ได้มีการดำเนินงาน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การจัดทำรายละเอียดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในสังกัด อว.
คณะทำงาน คณะที่ 1 ได้ประชุมหารือเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรขององค์การมหาชน และหน่วยงานราชการ จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี (สร.) สำนักงานปลัดกระทรวงฯ (สป.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และได้ให้ข้อสังเกต ดังนี้

  • นโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้ง อว. คือ การเป็นต้นแบบของการปฏิรูป ทุกหน่วยงานต้องออกแบบโครงสร้างและระบบการทำงานแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพ ทำงานเร็วขึ้น และคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์
  • ขอให้ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปสู่หน้าที่ใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผล
    ตามความคาดหวังของการจัดตั้ง อว. โดยเวลาที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด (Maximum Time)  แต่ในการทำงานต้องพยายามลดให้เหลือเพียง ร้อยละ 50
  • ควรรอข้อเสนอการออกแบบระบบและกลไกในรายละเอียดของคณะทำงาน คณะที่ 3 ก่อน เพื่อให้การจัดโครงสร้างรองรับระบบการทำงานใหม่  ทั้งนี้การทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะ สอวช. สกสว. สป.อว. วช. ต้องชัดเจนเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่การกำหนดนโยบายภาพใหญ่ การทำแผน การจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการแยกส่วนน้อยที่สุด
  • ข้อเสนอของแต่ละหน่วยงานยังมีความทับซ้อน บางครั้งการทับซ้อนก็มีข้อดีทำให้ไม่เกิดช่องว่าง แต่ก็อาจจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ต่างหน่วยงานต่างขยายตัวเพราะคิดว่าตนเองทำงานได้ดีกว่าหน่วยงานอื่น ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องทำงานไปด้วยกัน มีการเชื่อมโยงการทำงาน ในอนาคตอาจนำไปสู่การรวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน
  • เมื่อพิจารณาการแบ่งส่วนงานระดับกองตามข้อเสนอของ สป.อว. การจัดแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
    • กลุ่มพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและทำงานเชิงรุก
    • กลุ่มที่ต้องมี แต่ต้องทำงานประสานงานกับหน่วยงานอื่น ซึ่งต้องพิจารณาระดับชั้น (Layer) ของงานมิให้ทับซ้อนกัน
    • กลุ่มที่ต้องทบทวนว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ เพราะมีหน่วยงานอื่นทำหน้าที่นั้น ๆ แล้ว หรือเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องทำ
  • การจัดหน่วยงานควรคำนึงถึงหลักการกระจายอำนาจด้วย

การเตรียมการจัดตั้ง อว.
คณะทำงาน คณะที่ 2 ได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการเตรียมการจัดตั้ง อว. ดังนี้

  • การจัดทำตราสัญลักษณ์และเครื่องหมายของกระทรวงฯ ให้จัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์
    โดยมีคณะทำงานกลุ่มย่อยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกตราสัญลักษณ์
  • ชื่อกระทรวง
    • ชื่อย่อกระทรวง คือ อว.
    • ชื่อภาษาอังกฤษ:  MHESI  (Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation)
  • สถานที่ตั้ง ในระยะแรก ให้ใช้สถานที่เดิมที่มีอยู่ ได้แก่ อาคารพระจอมเกล้า และอาคารอุดมศึกษา
  • การพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ อว.

คณะทำงาน คณะที่ 3 ได้ประชุมหารือเพื่อจัดทำกรอบแนวคิดการจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ประเด็นปฏิรูปที่สำคัญด้าน อววน. ของคณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประมาณ 100 คน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

3.1 แนวคิดการจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

                กรอบแนวคิดการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สรุปดังนี้

  • ความเชื่อมโยงระหว่างการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้าน แผนงาน 
  • นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และแผนด้าน อววน. เป็นทิศทาง นโยบาย กรอบใหญ่ของประเทศ    
  • แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งทั้งสองแผนต้องมีความเชื่อมโยงกัน
  • แผนปฏิบัติการแบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการอุดมศึกษา ด้านพัฒนากำลังคนของประเทศและการจัดการศึกษาตลอดชีวิต และแผน ววน. ด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ จะมีความเชื่อมโยงจากนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ลงมาสู่แผนปฏิบัติการ และถูกนำไปใช้ใน
การกำหนดกรอบงบประมาณ ซึ่งกระบวนการจัดทำจะเป็นการบูรณาการทั้งในลักษณะ Top-down และ Bottom-up

  • แนวทางกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการจัดทำแผนด้าน อววน. จะพิจารณาจากเป้าประสงค์ของประเทศใน 3 มิติ  สรุปดังนี้
    • สร้างคนและสถาบันความรู้ มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย พัฒนาการอุดมศึกษา และวิจัยเพื่อองค์ความรู้
    • สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย วิจัยและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ และพัฒนาฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    • ยกระดับคุณภาพชีวิต มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย วิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ และวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์

               เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 3 มิติดังกล่าว นำไปใช้ประกอบการกำหนดเป้าหมายของประเทศ และวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ (Key Issues) ในแต่ละเป้าประสงค์ พร้อมระบุเป้าหมายรายประเด็นสำคัญ จากนั้นจึงกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

3.2 ประเด็นปฏิรูปด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ข้อเสนอข้อที่ 1) การออกแบบโครงสร้างระบบ อววน.

  • ในการจัดประเภทหน่วยงานในระบบ ววน. ควรให้มีความยืดหยุ่น แต่กำหนดผลงานส่งมอบให้ชัดเจน และมีอิสระในการทำงาน โดยเสนอให้ระบุรายชื่อหน่วยงานในระบบ ววน. ให้ชัดเจนเฉพาะหน่วยงานในระดับนโยบายและหน่วยงานในระดับให้ทุน
  • ระบบการให้ทุนควรมีความหลากหลาย โดยเสนอให้มีการจัดตั้งโครงการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มโดยไม่จัดตั้งหน่วยงานใหม่

ข้อเสนอข้อที่ 2) การออกแบบระบบบริหารนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน

  • นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. มีความเชื่อมโยงกับแผนด้านการอุดมศึกษา และแผน
    ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และแผนปฏิบัติการแต่ละด้าน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยแผนด้านการอุดมศึกษา และด้าน ววน. มีความสอดคล้อง ไม่ซ้ำซ้อน ปิดช่องว่าง (Gap) ในประเด็นสำคัญที่ควรมีผู้รับผิดชอบ และหน่วยงานในระดับปฏิบัติการสามารถใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการรายหน่วยงาน ส่งผลให้จัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ
  • ควรจัดให้มี Platform Management ที่มีผู้ใช้ประโยชน์ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานให้ทุน และหน่วยปฏิบัติ มาร่วมกำหนดโจทย์ของประเทศ ขับเคลื่อนงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน

ข้อเสนอข้อที่ 3) การออกแบบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณ

  • การพิจารณาจัดสรรงบประมาณ จำเป็นต้องมีข้อมูลภาพรวมของงบประมาณด้าน อววน. ของประเทศ (รวมงบประมาณของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง) โดยต้องทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณให้มีการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ผลจากการใช้งบประมาณและศักยภาพในการดำเนินงานขององค์กรและระบบ ทำให้เห็นภาพรวมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณ
    ในการจัดสรรงบประมาณแบบ Result-based and Performance-based Budgeting และนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการดำเนินงานโดยคณะกรรมการพิจารณางบประมาณตามพระราชบัญญัติ
    สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562  มาตรา 12
  • การจัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะดำเนินการได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
    • การสนับสนุนทุนไปยังหน่วยปฏิบัติ (หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าภาพที่มีความสามารถ
      ในการบริหาร Platform ในประเด็นใหญ่เฉพาะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล) งบประมาณ
      ที่จะจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติโดยตรง จะเป็นงบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่
      ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือ โครงการริเริ่มสำคัญเร่งด่วนขนาดใหญ่/พิเศษของประเทศ
      ที่จำเป็นต่อการพัฒนาและยกระดับวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม หรืองบประมาณสำหรับ
      การวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ถ่ายทอดเทคโนโลยี
      ทำมาตรฐาน
    • การสนับสนุนทุนผ่านหน่วยสนับสนุนทุน (Granting) สำหรับให้หน่วยสนับสนุนทุนซึ่งจะสนับสนุนทุนตามประเภทอุตสาหกรรม (Sector) หรือสาขา หรือประเภทของการวิจัยและพัฒนา โดยจะดำเนินการประกาศรับข้อเสนอแผนงาน/โครงการวิจัยและนวัตกรรม
      จากหน่วยวิจัยและนวัตกรรม

ข้อเสนอข้อที่ 4) การออกแบบระบบติดตามและประเมินผล

  • การสร้างระบบติดตามและประเมินผลควรเอื้อให้เกิดความรับผิดชอบต่องาน (Result-based Accountability) และให้หน่วยงานสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ในธรรมาภิบาลของการบริหารได้
    (วัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความแตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน)
  • มีกลไกการติดตามและประเมินผลแบบข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้เกิดการเรียนรู้ และสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลในลักษณะ Double Loop Learning โดยอาศัยระบบข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ (Open Data Access) และข้อมูลมีความถูกต้อง สามารถวิเคราะห์ผลได้ทันเวลา

ข้อเสนอข้อที่ 5) การออกแบบระบบเชื่อมโยงข้อมูล

  • ควรจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็น โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูล เพื่อจะได้ไม่สร้างความยุ่งยากให้หน่วยงาน
    • ควรเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Data Portal ที่ครอบคลุมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

เรื่องเดิม

พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562
มาตรา 11(1) กำหนดให้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทและแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562
มาตรา 11(2) กำหนดให้สภานโยบายมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวง และงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
พ.ศ. 2562 มาตรา 18(1) ระบุให้รัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจในการให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพิจารณาคำของบประมาณและการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 16 ระบุว่า การกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การทำคำของบประมาณและ
การจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบาย
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวง
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การดำเนินงาน

  • กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2570 และการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ

      สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายฯ ได้เตรียมการจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) สรุปดังนี้

  • สวอช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป
    การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำและรวบรวมข้อเสนอของคณะทำงานฯ เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. รวมถึงการออกแบบระบบบริหารนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน อววน. ที่เน้นความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งการพัฒนานโยบายสำหรับทุกกลุ่มทั้งเชิงพื้นที่และระดับประเทศ และอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลสนับสนุน (Evidence-based Policy) และการกำหนดเป้าหมายหลักและทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) รวมถึงประเด็นสำคัญ (Key Issues) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยึดหลักเน้นที่ผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ (Demand-driven)
  • สอวช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
    จัดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทบทวนร่างแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 และการประชุมชี้แจงระบบ แผน และแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 – วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2562 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมรวมกว่า 1,500 คน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นสำคัญและทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ใน 18 ประเด็น คือ (1) การศึกษาและการเรียนรู้ (2) มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรม (3) เศรษฐกิจฐานราก (4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการจัดการชายแดน (5) สิ่งแวดล้อม (6) พลังงาน (7) โครงสร้างประชากรกับสังคมสูงวัย (8) คุณภาพสังคมไทย (9) การท่องเที่ยว (10) การแพทย์และสาธารณสุข (11) การเกษตรสมัยใหม่ (12) อุตสาหกรรมอาหาร (13) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (14) โลจิสติกส์ (15) เศรษฐกิจดิจิทัล (16) เขตเศรษฐกิจนวัตกรรมและการพัฒนาภูมิภาค
    (17) การปฏิรูประบบราชการ และ (18) โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ อววน.
  • สอวช. ร่วมกับ สกสว. จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) เป็นประธานการประชุม และมีผู้บริหารหน่วยงานในระบบ อววน. ผู้แทนภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 150 คน เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนา อววน. และแผนงานที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกลไก อววน. สำหรับการขับเคลื่อนประเทศ

สอวช. ได้ยกร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570 โดยใช้โจทย์สำคัญจากยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ฉบับ และ 15 ประเด็นเร่งด่วน ใน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนโยบายสำคัญของรัฐบาล และข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากการประชุมดังกล่าวข้างต้น
มาระบุประเด็นการพัฒนาที่ อววน. จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้โจทย์ท้าทายของประเทศบรรลุเป้าหมาย
โดยการขจัดปัญหาในปัจจุบันและการวางรากฐานเพื่ออนาคต ใช้การบริหารงานในรูปแบบแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนงานและโครงการต่าง ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้คมชัดยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์ม ดังนี้

แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้

แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม

แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

แพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

(เอกสารแนบวาระที่ 3.1)

  • กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สอวช. และ สกสว. ได้ร่วมกันจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ปรากฏตามข้อ 1. รวมทั้งสิ้น 37,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Flagship) และโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นคำของบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เดิมที่เคยส่งให้สำนักงบประมาณแล้ว

ทั้งนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่าน ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณสำหรับโครงการ Flagship และโครงการที่เป็นคำของบประมาณเดิมไว้ที่ 30:70 ดังนั้น โครงการ Flagship เสนอของบประมาณรวม 11,100 ล้านบาท และโครงการที่เป็นคำของบประมาณเดิมเสนอของบประมาณรวม 25,900 ล้านบาท  

เรื่องเดิม

          ตามที่ พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการ
ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างสูงในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามข้อเสนอของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง ของประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภานโยบายกำหนด นอกจากนี้ มาตรา 72 และบทเฉพาะกาล ยังกำหนดให้ดำเนินการสรรหา กสว. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติบังคับใช้ 

การดำเนินงาน

          สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะ
ฝ่ายเลขานุการสภานโยบาย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำร่างระเบียบสภานโยบาย
ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

เรื่องเดิม

  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
    พ.ศ. 2562 มาตรา 41 บัญญัติให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่จัดทำแนวทางการพัฒนาระบบ กลไก การบูรณาการการทำงานและวิธีปฏิบัติราชการ
    การจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในบังคับบัญชาและในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
    การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 35/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
  • คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีคำสั่งที่ 3/2562 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562 แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ อว. มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาและจัดทำร่างกรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจัดทำประเด็นปฏิรูป
    ที่สำคัญ โดยในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ประชุม
    มีมติรับทราบข้อเสนอการพัฒนาระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในประเด็น
    การจัดสรรและบริหารงบประมาณ โดยการจัดสรรงบประมาณ ให้ไปยังจุดที่มีความมั่นใจว่าจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในระบบ เช่น ต้องสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ ความสามารถในการบริหารจัดการของหน่วยรับงบประมาณ รวมถึงให้เพิ่มจำนวนหน่วยให้ทุน เพื่อรับผิดชอบงานด้าน Area-based และด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการให้ทุนในลักษณะเฉพาะ (Specialize) ไม่ใช่ลักษณะ General Funding โดยให้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ไปประกอบการพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินการต่อไป และในการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุมมีมติรับทราบข้อเสนอของคณะทำงานฯ ให้การจัดสรรงบประมาณกองทุนผ่านหน่วยงานให้ทุน (Funding Agency) และระยะต่อไป ให้เสนอตั้งหน่วยงานให้ทุน (Funding Agency) เพิ่มเติม และพัฒนากลไกการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
  • สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะ
    ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ ได้ศึกษาระบบการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของต่างประเทศ
    ที่มีนโยบายและระบบบริหารจัดการที่เป็นระบบและทันสมัย ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสิงคโปร์ ผลการศึกษาพบว่า การให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของทุกประเทศมีการแบ่งบทบาทภารกิจในหลายลักษณะทั้งประเภทผู้ดำเนินการวิจัย (R&D performer) ประเภทของงานวิจัยและสาขาวิชาอย่างชัดเจน เพื่อให้มีความสามารถในการจัดสรรทุนวิจัยระยะยาวผ่านแผนงานขนาดใหญ่ในแต่ละเรื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทของการพัฒนาของอุตสาหกรรมและตอบโจทย์ของประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งเมื่อนำผลการศึกษามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหน่วยงานให้ทุนในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าโครงสร้างหน่วยงานให้ทุนของประเทศไทยที่มีหน่วยงานให้ทุนเพียง 4 หน่วยงานหลัก และในจำนวนนี้เป็นหน่วยงานให้ทุนรายสาขาเพียง 2 หน่วยงาน ซึ่งไม่ครอบคลุม ทำให้ระบบการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยไม่หลากหลาย เช่นเดียวกับแนวคิดของต่างประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินงานในลักษณะของการให้ทุนแต่ละด้าน มีความแตกต่างกันทั้งเป้าหมายในการดำเนินงาน วิธีการจัดสรรทุนวิจัย และการบริหารจัดการงานวิจัย ซึ่งส่งผลต่อความเชี่ยวชาญของบุคลากรและวัฒนธรรมการทำงานอีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งโครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านเพิ่มเติมในระบบ ในการนี้ สอวช. จึงได้จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 ด้าน ได้แก่
    • โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ
    • โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย
    • โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนา Innovation Collaboration Platform ระดับพื้นที่
  • คณะทำงานฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอประเด็นปฏิรูปที่สำคัญด้าน อววน. และเห็นชอบในหลักการร่างข้อเสนอโครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 ด้าน (ไม่จัดตั้งหน่วยงานใหม่) โดยให้ยืมตัวบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เคยทำงานในด้านนี้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และให้มีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัวและสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ (Autonomy) มีระบบการบริหารจัดการที่แยกออกมาจากการปฏิบัติงานปกติของ สอวช. มีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งแต่งตั้งโดยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และมีระบบบริหารเป็นของตนเอง โดยในระยะแรก ให้นำกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรทุนและบริหารจัดการทุนของ สกสว. มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดําเนินโครงการดังกล่าว ให้ อว. โดย สอวช. เป็นหน่วยรับงบประมาณ และให้โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 โครงการ ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้ สอวช. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามความจําเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับงบประมาณในการจัดสรรทุนและการบริหารจัดการให้ สอวช. เสนอของบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562

การดำเนินงาน

          สอวช. ได้จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดบทบาทภารกิจ ในการส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรทุนรายสาขาตามประเภทของงานวิจัยและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างชัดเจน เหมาะสมกับบริบทของการพัฒนาของอุตสาหกรรม และตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเสนอต่อสภานโยบายพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศหรือเป็นประโยชน์ยิ่งต่อประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ในการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ สภานโยบายอาจมอบหมายให้บุคคล คณะบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน รับผิดชอบดำเนินการวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมด้านใหม่นั้น หรือดำเนินการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง  ทั้งนี้ โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับแก่การดำเนินงานของบุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอของสภานโยบายซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน

1.1  เพื่อส่งเสริมให้งานวิจัยและนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเกิดผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยวางระบบการบริหารจัดการในลักษณะแผนงานขนาดใหญ่ (Platform) มีการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การสนับสนุนงบประมาณมีความชัดเจน ไม่กระจัดกระจาย

1.2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์(Commercialization) โดยสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบการร่วมลงทุน ระหว่าง สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐ กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การจัดหาเทคโนโลยีเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ (Technology Acquisition) และการส่งเสริม Technology Localization

1.3  เพื่อให้การจัดสรรทุนครอบคลุมผู้รับประโยชน์ในสาขายุทธศาสตร์ของประเทศ (National Strategic Agenda) โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งเชิงพื้นที่ การพัฒนาสาขาอุตสาหกรรม การพัฒนากำลังคน การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (Innovation Ecosystem)

1.4  เพื่อบูรณาการแหล่งทุนและการจัดสรรทุนของหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการจัดสรรทุน

  • ข้อเสนอหลักการโครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน

2.1    เสนอปรับระบบการบริหารและจัดการทุน จากการให้ทุนเป็นรายโครงการขนาดเล็ก (Project- based) เป็นการให้ทุนลักษณะแผนงานขนาดใหญ่ (Platform-based) ซึ่งจะทำให้การให้ทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

2.2   จัดแบ่งภาระหน้าที่ (Division of Labour) ของหน่วยบริหารและจัดการทุนให้ชัดเจนและครอบคลุม Strategic Platform รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบ

2.3   วางระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม และทุนวิจัยและนวัตกรรมแบบ Program-based

2.4   โครงการมีระบบการติดตามประเมินผลที่เอื้อให้เกิดความรับผิดชอบต่องาน (Result-based Accountability) มีกลไกการติดตามและประเมินผลแบบข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้เกิดการเรียนรู้ และสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลในลักษณะ Double Loop Learning ที่มีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

  • แนวทางการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน

3.1  จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนขึ้นในลักษณะโครงการ Sandbox และไม่เป็นนิติบุคคล
(ใช้ สอวช. เป็นร่มนิติบุคคลให้)

3.2  มีระบบกำกับดูแลโครงการ โดยคณะกรรมการบริหารโครงการที่เป็นอิสระ (Autonomy) แต่งตั้งโดยสภานโยบายการ ตัดสินใจและดำเนินงานเป็นอิสระจาก สอวช.

3.3  มีระเบียบบริหารงานเป็นของตัวเองเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

3.4  มีผู้อำนวยการโครงการที่มีความสามารถสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการทุนแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารโครงการ (ในวาระเริ่มแรกให้ รมว.อว. แต่งตั้ง Commissioners ตามข้อเสนอของ

คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน)

3.5  ผู้ปฏิบัติงานในโครงการมาจากการยืมตัวมาปฏิบัติงาน และการโอนย้ายบุคลากรจากหน่วยงาน
ที่มีศักยภาพและเคยปฏิบัติงานในด้านที่เกี่ยวข้อง

  • ข้อเสนอขออนุมัติจัดตั้งโครงการ

4.1  ขอความเห็นชอบหลักการการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน

4.2  ขอความเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน จำนวน 3 หน่วย ภายใต้ สอวช. ได้แก่

(1)  โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ

(2) โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย

(3)  โครงการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนพัฒนา Innovation Collaboration Platform ระดับพื้นที่

4.3  มอบหมายคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนให้แล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานต่อสภานโยบาย

เรื่องเดิม

          พระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 7 บัญญัติว่า
เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมทางด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน บุคลากร งบประมาณ และกฎหมาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้จัดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ดังต่อไปนี้

  1. หน่วยงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. หน่วยงานด้านการให้ทุน
  3. หน่วยงานที่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม
  4. หน่วยงานด้านมาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบและบริการคุณภาพวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  5. หน่วยงานด้านการจัดการความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์
    จากงานดังกล่าว
  6. หน่วยงานด้านอื่นตามที่สภานโยบายกำหนด

หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานใดจะจัดอยู่ในประเภทใดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่
สภานโยบายประกาศกำหนด

ให้หน่วยงานตามมาตรานี้ ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กำหนด เว้นแต่สภานโยบายจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

การเปลี่ยนประเภทหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สภานโยบายประกาศกำหนด

การดำเนินงาน

  • สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะ
    ฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีหน้าที่และอำนาจ
    ในการกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมแต่ละประเภท ได้ร่วมกัน
    กำหนดแนวทางการจัดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยเบื้องต้นได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมในแต่ละประเภท ดังนี้

ประเภท (1) หน่วยงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยเอื้อที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กำหนดแนวทาง การจัดสรรงบประมาณ และกรอบงบประมาณ สำหรับงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์หรือนโยบายของรัฐบาล และกำกับดูแล เร่งรัด ติดตามการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผน ทั้งนี้ต้องไม่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมเอง

ประเภท (2) หน่วยงานด้านการให้ทุน ทำหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม และบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ต้องไม่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมเอง รวมถึงไม่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อหน่วยงานของตนเอง

ประเภท (3) หน่วยงานที่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม ทำหน้าที่ดำเนินการวิจัยและนวัตกรรม หรือร่วมดำเนินการวิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม อาจรวมถึงการบริหารงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม
เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ประเภท (4) หน่วยงานด้านมาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบและบริการคุณภาพวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบและบริการคุณภาพ สอบเทียบเครื่องมือ/อุปกรณ์ และรับรองมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงศึกษา วิจัย พัฒนา ความสามารถทางด้านมาตรวิทยาและการพัฒนาระบบ กระบวนการ บุคลากร โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ 

ประเภท (5) หน่วยงานด้านการจัดการความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทำหน้าที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ บริหารจัดการและอำนวยความสะดวกในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

  • คณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2562 มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทาง
    การจัดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยให้ระบุหน่วยงานในประเภท (1) และ (2) ให้ชัดเจน
    แต่ในส่วนประเภทที่ (3) (4) และ (5) ให้ระบุหน่วยงาน โดยไม่จำเป็นต้องจัดประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในกลุ่มปฏิบัติการสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว
  • สอวช. และ สกสว. ร่วมดำเนินการจัดประชุมชี้แจงระบบ แผน และแนวทางการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.b2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อชี้แจงการแบ่งประเภทและแนวทางการพัฒนาหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม และรับฟัง
    ความคิดเห็นของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม มาประกอบการจัดทำร่างประกาศสภานโยบาย
    เรื่องการจัดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม

สอวช. และ สกสว. ได้ร่วมดำเนินการจัดทำร่างประกาศสภานโยบาย เรื่อง การจัดประเภทหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. เพื่อเสนอสภานโยบายให้ความเห็นชอบ